วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550

เรื่องเล่าจากคนเมือง



ณ ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงบังเกิดที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและอารยธรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความประณีตละเมียดละไม กลิ่นอายของอารยธรรมที่กลุ่มชนกลุ่มนี้ได้สร้างสรรค์มากว่า 7 ศตวรรษ ได้ทำให้ลูกหลานพลอยได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอันดีงามเหล่านั้น สืบต่อๆกันมา ไม่ว่าจะเป็นการกินการอยู่ การเมืองการปกครอง การแสดง การละเล่น หรือแม้แต่การแต่งกาย
ชาวล้านนาหรือชาวลานนายังเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบันว่าจะเรียกกลุ่มชนนี้ว่าอย่างไรกันแน่เพราะถ้าดูถึงเหตุผลของนักประวัติศาสตร์แต่ท่านแล้วก็สมเหตุสมผลด้วยกันทั้งนั้น คำว่า “ล้านนา” ท่านผู้รู้ทั้งหลายให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก การที่มีพื้นที่นาของชาวไตยวน(หรือคนเมือง) เพราะมีที่นาเป็นล้านล้านไร่ เลยน่าจะชื่อว่า ล้านนา แต่เหตุผลของผู้รู้อีกฝ่ายหนึ่ง ก็กล่าวว่าน่าจะเป็นคำว่า “ลานนา” เสียมากกว่าเพราะดูลักษณะการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนไตยวนเป็นลานกว้างใหญ่และมีที่นา เลยน่าจะเป็นลานนา แต่ในความคิดเห็นของผู้เขียนเองน่าจะเป็นคำว่าล้านนาเสียมากกว่าเพราะว่าคำว่าลาน ทางเหนือเราจะเรียกว่า ข่วง ถ้าพิจารณาดูตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์กรณีหลังแล้วก็น่าจะเรียกว่า “ข่วงนา” ฟังดูแล้วแปลกๆ ผู้เขียนเองสนับสนุนข้อคิดเห็นแรกเพราะดูอย่างเมืองลาวยังชื่อ“เมืองศรีสัตนาขนะขุทล้านช้าง” เลย แล้วทำไมล้านนาซึ่งมีนาเป็นล้านล้านไร่นั้นจะชื่อว่าล้านนาไม่ได้ แค่ชื่ออาณาจักรยังซับซ้อนขนาดนี้แล้วความเป็นมากว่า 700 ปี ก็เช่นยังมีอะไรที่น่าค้นหาต่อไป
คนเหนือเรามีประวัติศาสตร์ชนชาติที่ยาวนานมากเลยทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลายตามชนชาติที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรนี้ เราอาจเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมผสมก็เป็นได้ แต่คงเป็นพหุวัฒนธรรมไม่ได้หรอกเพราะเราเอาวัฒนธรรมหลายๆมาผสมดูกลมกลืนกันไปหมดจนคิดว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นของเราเสียแล้ว แต่ลักษณะของพหุวัฒนธรรมนั้นจะต้องมีวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น อเมริกา ที่มีคนสองสีผิว คนผิวขาวก็มีวิธีรับประทานอาหารที่แสนจะผู้ดีเสียเหลือเกิน ส่วนคนผิวดำก็มีวิธีรับประทานอาหารที่ดูสบายๆตามแบบมะกันผิวดำ มีนักสังคมวิทยาหลายท่านก็ยังยืนยันว่าวัฒนธรรมของบ้านเรานั้นเป็นแบบพหุวัฒนธรรม แต่ถ้าพิจารณาตามเหตุและผลที่นำมาแจ้งแถลงไขให้อ่านกันผู้เขียนเองก็ยังจะเป็นกระต่ายขาเดียวที่ยังจะยืนยันว่าวัฒนธรรมบ้านเราเป็นแบบผสมอยู่ดี
วัฒนธรรมของล้านนาเราได้รับอิทธิพลมาจากชาวม่าน(พม่าหรือชาวพุกาม) ชาวไตใหญ่(ต้องขอบอกก่อนว่าชาวไตใหญ่กับไตม่านนั้นแตกต่างกันแต่ก็มีลักษณะความเป็นอยู่ที่เหมือนกันคือ อยู่บริเวณที่ราบแม่น้ำอิระวดีการแต่งกายก็คล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันก็เพียงการเกล้าผม ไตม่านจะเกล้ามวยสูงเกือบกลางศีรษะและจะมีผมย้อยลงมาทางด้านขวามักจะมีอุบะห้อยลงมาด้วย แต่ชาวไตใหญ่จะเกล้ามวยผมเกือบกลางศีรษะเช่นกันแต่ไม่มีผมย้อยลงมาทางด้านขวาเหมือนม่าน และจะไม่นิยมใส่ซิ่นรุนตยาแบบชาวม่านอีกด้วย) ชาวไตลื้อ ชาวไตพวน ชาวไตเขิน เลยทำให้มีวัฒนธรรมที่เหมือนกับชาวม่านบ้าง ชาวเขินบ้าง ชาวลื้อบ้าง เพราะวัฒนธรรมไหนจะเจริญรุ่งเรืองก็ขึ้นอยู่กับเจ้าผู้ปกครองในขณะนั้นว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับชนชาติใดแต่ที่เห็นว่าจะมีวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างชัดเจนก็คงหนี
ไม่พ้นยุคเก็บผักใส่ส้าเก็บข้าใส่เมือง ของพระยากาวิละผู้ปกครองนครองค์แรกหลังจากเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นแก่พม่าถึง200กว่าปี
ในยุคนี้เองที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายเพราะพระยากาวิละได้ต้อนผู้คนจากที่ต่างๆทั้งใกล้และไกล มาอยู่เสียในเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หลังจากนั้นไม่กี่ร้อยปีก็เกิดวัฒนธรรมของคนเมืองเองมีการประยุกต์ความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ให้เข้ากับพระพุทธศาสนาที่กำลังเข้ามาเผยแพร่พระศาสนา โดยมีวัดแห่งก็คือวัดเชียงมั่น แต่วัดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแห่งแรกก็คือวัดสวนดอก และวัดสวนดอกนี้เองก็เคยเป็นอุทยานดอกไม้ของเจ้าหลวงทุกพระองค์ จนได้สร้างเป็นวัดบุปผารามและได้เปลี่ยนเป็นวัดสวนดอกในปัจจุบัน มีใครสักกี่คนจะทราบบ้างว่าพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในพระธาตุวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นองค์ที่แยกองค์ออกจากพระธาตุวัดสวนดอกนี่แหละ ตามตำนานการสร้างวัดพระดอยสุเทพ ได้เล่าไขกันไว้ว่า “ในสมัยพระยากือนาเจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่ลำดับที่9 ของราชวงศ์เม็งราย(หรือมังราย) ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองสุโขทัยมาบรรจุไว้ที่วัดสวนดอกและด้วยฤทธานุภาพของพระธาตุได้แบ่งออกเป็นสององค์ ข่าวนั้นทราบถึงพระยากือนา พระองค์จึงโปรดฯให้นำพระธาตุบรรจุขึ้นหลังช้างตั้งสัจจอธิษฐานว่า ถ้าช้างไปหยุด ณ ที่ใดจะทรงสร้างวัดขึ้นนั้น ช้างนั้นก็เดินไปถึงดอยสุเทพเมื่อขึ้นไปจนถึงจุดแล้วก็ล้มลงสิ้นใจตาย พระยากือนาจึงทรงให้สร้างวัดและขนานนามว่า วัดพระธาตุดอยสุเทพ” เนื่องจากความเชื่อและพระพุทธศาสนาเชื่อมกันและผสมผสานกันเป็นอย่างดี นอกจากจะทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วชาวล้านนายังได้นำพิธีกรรมของตนเข้าไปผนวกด้วยจนเกิดรูปแบบการทำบุญต่างๆในเมืองเชียงใหม่ เช่น การบูชาเสาอินทขิล การเล่นน้ำสงกรานต์(อยากจะบอกเสียเหลือเกินว่าประเพณีสงกรานต์ที่เรามีมากันเป็นร้อยๆปีนั้นไม่ใช่ของเรานะ แต่เรารับมาจากพม่าอีกที เห็นไหมล่ะว่าจะเชื่อกันรึยังว่าวัฒนธรรมของเรานั้นเป็นแบบผสมผสานไม่ใช่พหุวัฒนธรรม) ก่อนการทำพิธีแต่ล่ะพิธีก็จะมีการแสดงเพื่อเป็นพุทธบูชาบ้าง เพื่อความสนุกสนานบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพื่อพุทธบูชา เช่น การตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนผางประทีป ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง เป็นต้น ในยุคต่อๆมาก็เพื่อความสนุกสนานและการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แต่ศิลปะการแสดงแบบพื้นเมืองนี้ถ้าจะสืบประวัติกันจริงก็คงถึงกันแค่สมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ผู้ที่เป็นองค์อุปถัมภ์การฟ้อนรำของล้านนา เพราะสืบหาหลักฐานเก่าแก่กว่านี้ไม่ได้แล้วเราไม่สามารถจะไปหาหลักฐานจากไหนมายืนยันได้

การฟ้อนในสมัยนี้เป็นการเอาท่าฟ้อนจากที่ต่างๆมาผสมกลมกลืนกัน ฟ้อนที่ดังเป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศก็คงหนีไม่พ้น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ) ฟ้อนสาวไหม การตีกลองสะบัดชัย แต่จะมีใครบ้างหนอที่รู้จักฟ้อนที่ชื่อว่า
“ฟ้อนม่านมุยเชียงตา” ถ้าผู้อ่านเป็นผู้ที่เรียนนาฏศิลป์มาก็คงจะต่อว่าผู้เขียนว่าผู้เขียนเขียนผิด ไม่เช่นนั้นก็คงพิมพ์ แต่ผู้เขียนยังคงจะยืนยันอยู่ว่าเขียนไม่ผิด ไม่ผิดและไม่ผิด ชื่อนี้จริงๆ ชื่อจริงๆคือฟ้อนม่านมุยเชียงตา เพราะว่าคำว่ามุ้ยไม่มีความหมายเลยในภาษาพม่าและภาษาเหนือของเรา จากหลักฐานการเขียนแสดงความยินดีครบรอบ 80 ปี โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โดยคุณหญิงสวาท รัตนวราห อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
“ ...............ในปีนั้น(ไม่ได้เขียนไว้ว่าปีอะไร แต่ผู้เขียนคาดว่าเป็นปี พ.ศ. 2468 ) พระราชชายาเธอ เจ้าดารารัศมีในรัชาลที่ 5 ทรงโปรดรับโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพไว้ในพระอุปถัมภ์ และประทาน ครูหลง ครูสอนฟ้อนในวังพระราชชายาเธอฯ ที่เก่งที่สุดมาสอนนักเรียนวัฒโนทัย ดิฉันเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่เรียนฟ้อนรำกับครูหลงจึง ฟ้อนเมือง และฟ้อนม่านมุยเชียงตา เป็นทั้งรู้ประวัติด้วยจึงขอยืนยัน ณ ที่นี่อีกครั้งหนึ่งว่า ชื่อฟ้อนชุดนี้คือ “ม่านมุยเชียงตา” ไม่ใช่ม่านมุ้ยเชียงตา ดังที่มีผู้เรียกกัน (ถ้าไม่แก้ให้ถูกเดี๋ยวนี้ จะเพี้ยนหนักในอนาคต เพราะมีผู้รู้ท่านหนึ่งบอกดิฉันว่า “มุย” แปลว่า “ขวาน” ไม่น่าจะเป็นชื่อเพลงระบำชุดนี้) ท่านไม่รู้เอาจริงๆว่าระบำชุดนี้พระราชชายาเธอ เจ้าดารารัศมีฯ ท่านได้ครูฟ้อนรำชาวพม่าจากราชสำนักพระเจ้าทีบอของพม่าไว้ในวังของท่าน ท่านได้คิดประดษฐ์ท่าฟ้อนเมืองผสม ท่าฟ้อนม่านตามคำแนะนำของครูช่างฟ้อนชาวพม่านั้น และบทร้องเดิมเป็นภาษาพม่าล้วนๆ ต่อๆ มาเพี้ยนหนักเข้าจนพม่าฟังไม่รู้เรื่อง.............”
จะเห็นว่าการฟ้อนชนิดนี้ไม่ใช่เป็นเพียงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางด้านการฟ้อนรำเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องบอกถึงประวัติศาสตร์ทางด้านการเมืองด้วย เพราะในสมัยพระเจ้าทีบอกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่านั้นเป็นยุคถึงคราวอับจนของพม่าเพราะในปลายรัชสมัยของพระองค์เมืองอังกฤษได้เข้ายึดเมืองพม่าเป็นอาณานิคม ที่ผู้เขียนเขียนมานั้นไม่ใช่ต้องการอยากให้สำนึกรักบ้านเกิดอะไรหรอกแต่อยากจะแก้ไขเรื่องชื่อฟ้อนนิดหน่อย เพราะแม้กระทั่งวิทยาลัยนาฏศิลป์เองก็ยังใช้คำว่า
“ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา”เลย อยากแก้จริงๆ ถ้าใครได้อ่านก็ขอไหว้วานช่วยบอกคนที่ไม่รู้ด้วยเถอะ ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ของเก่าๆเถอะน่ะเห็นใจด้วยเถอะคุณ ฟ้อนนี้เป็นหนึ่งในจำนวนฟ้อนที่เขียนอยากจะบอกจะเล่าให้คนอื่นได้ทราบกันบ้างเพราะไปทางไหนเวลามีคนชมคนดูฟ้อนนี้ก็จะเกิดอารมณ์เบื่อ แต่อยากจะให้ดูว่าฟ้อนนี้มีอะไรดี ลองพินิจพิเคราะห์เอาเองนะคุณผู้อ่าน
ไม่ลองสังเกตุหรือว่าท่าฟ้อนบ้างท่าก็เตะเท้าบ้าง มีตบมือหรือที่เราเรียกว่าตบแผะนั้นแหละ เชื่อว่าคนที่ได้ดูได้ชมจะติดใจ แต่ยาวไปหน่อยนะเพราะมีความยาวการฟ้อนถึง 12-15 นาทีเชียว ด้วยความเห็นของตัวเองแล้วคิดว่าน่าจะเป็นดังที่คุณหญิงสวาท เขียนไว้เพราะครูหลงเองก็เป็นครูสอนฟ้อนในพระราชชายาที่ใกล้ชิดและมีความรู้ทางด้านการแสดงพื้นเมือง(ที่ว่ามีความรู้ความสามารถทางการแสดงพื้นเมืองก็เพราะฟ้อนแต่ละชุดที่มีในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของท่านที่คิดประดิษฐ์ไว้) แล้วแค่ชื่อฟ้อนทำไมท่านถึงจะไม่รู้และคงจะไม่สอนไม่บอกประวัติอย่างผิดๆเป็นแน่เพราะแม่ครูหลงก็เป็นครูสอนฟ้อนมือหนึ่งคงไม่สอนอะไรผิดๆแก่ลูกศิษย์เป็นแน่
ส่วนอีกฟ้อนหนึ่งที่อยากจะเล่าให้อ่านกันอีกสักฟ้อนหนึ่งก็คือ “ฟ้อนก๋ายลาย”
เพราะภูมิใจเสียเหลือที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฟ้อนนี้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ฟ้อนนี้ถูกค้นพบในปลายปี 2532 โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิและ อาจารย์สุชาติ กันชัย ที่หมู่บ้านแสนตอง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ฟ้อนก๋ายลายนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคงเป็นคำโบราณของชาวไตลื้อ(ไตลื้อนี่เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่พม่าและสิบสองปันนาของจีน ในเมืองไทยก็มีกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ลื้อเมืองแพร่ ลื้อเมืองน่าน ผ้าทอของชาวไตลื้อถือว่ามีความวิจิตรบรรจงมาก ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ด ผ้าห่ม(ผ้าต๊วบ) ผ้าตุ๊ม ที่สวยขึ้นชื่อเลยต้องผ้าซิ่นลื้อ ที่เราเรียกว่า ผ้าซิ่นลายน้ำไหล สวยงามมาก คนไตลื้อมีฝีมือในการทอผ้าเป็นอย่างมาก ในประวัติศาสตร์ชนชาติจีนยังเขียนบอกไว้ว่า ฉลองพระองค์ของฮ่องเต้เกือบทุกพระองค์ เป็นผลงานการทอผ้าของชาวไตลื้อ) คนไตลื้อมีภาษาพูดเป็นของตัวเองเรียกว่า “ภาษาลื้อ” ดังนั้น “ก๋าย” แปลว่า การปรับเปลี่ยน ส่วนคำว่า “ลาย” นั้นน่าจะตรงกับคำเมืองคำว่า เจิง(เชิง) หรือคำว่า ลีลาในภาษาไทยกลางนั้นเอง ก๋ายลาย น่าจะหมายถึง การปรับเปลี่ยนลีลาของผู้หญิง ถ้าใครเคยได้ชมฟ้อนนี้แล้วจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้าคือฟ้อนนี้มีความเข้มแข็งอยู่ในความอ่อนหวานตามแบบสตรีล้านนา เพราะเป็นฟ้อนที่ดัดแปลงมาจากฟ้อนเจิงของผู้ชาย แต่ถ้าเรียกว่าเป็นฟ้อนประจำโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพก็เป็นได้ เพราะเราจะเห็นว่าโรงเรียนวัฒโนทัยฯ แสดงฟ้อนรำต้องมีฟ้อนก๋ายลาย เรียกได้ว่าโรงเรียนวัฒโนทัยฯ เป็นผู้บุกเบิกฟ้อนก๋ายลายให้เป็นที่รู้จักกัน ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าฟ้อนก๋ายลายเป็นพื้นเมืองดังนั้นท่าฟ้อนก็จะแตกต่างกันไป แต่ชื่อท่าฟ้อนก็จะเรียกคล้ายๆกันอยู่ ที่เห็นเป็นต้นฉบับจริงเห็นจะมีอยู่สอง สามลาย คือ 1.ลายบ้านแสนตอง(ต้นฉบับ) เป็นลายที่ดูแข็งแรงเหมือนกับฟ้อนเจิงไม่เคร่งครัดลีลาการฟ้อนมากนัก คนที่สืบทอดในปัจจุบันมีน้อยรายมาก บังเอิญผู้เขียนเองได้รู้จักกับทายาทผู้สืบทอดฟ้อนก๋ายลายต้นแบบ จึงขอให้ฟ้อนให้ดู ซึ่งดูแล้วเหมือนกับลายของชมรมพื้นบ้านล้านนาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สุด
2.ลายของชมรมพื้นบ้านล้านนาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ที่สืบทอดมาจากบ้านแสนตอง แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าต้องนำมาปรับให้ดูสวยขึ้น เพราะว่าต้นฉบับจริงๆจะไม่เรียงท่าได้สวยตามแบบนาฏศิลป์แบบนี้)
ส่วนลายที่3 ก็คือ ลายของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ผู้เขียนได้ทราบประวัติมาว่าผู้ที่มาสอนคือ แม่ครูเฉลิมศรี พรหมสุวรรณ ซึ่งในอดีตเคยเป็นครูสอนนาฏศิลป์อยู่ที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ(ถึงแก่กรรม เมื่อ เดือนมีนาคม พ.ศ.2550) เป็นผู้สอนฟ้อนก๋ายลายให้กับนักเรียนชุมนุมนาฏศิลป์ของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ตอนปีพ.ศ.2538 ผู้เขียนคิดว่าแม่ครูคงได้นำมาปรับปรุงอีกครั้งหนึ่ง คงได้เสริมท่าให้ดูกลมกลืน สวยงามให้มากขึ้น จะสังเกตว่าลายของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพจะดูเป็นนาฏศิลป์ไทยมากขึ้น มีเข้าวง คลายวง ท่าเข้า ท่าออก ในขณะที่ลายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะไม่มีท่าเข้า ท่าออก ไม่มีเข้าวง เพราะเป็นแบบพื้นบ้านมาก
ส่วนฟ้อนก๋ายลายที่เห็นกันในปัจจุบันถ้าไม่ใช่ของสองสถาบันนี้แล้ว ก็ได้หยิบลายทั้งสองไปปรับอีกทีหนึ่ง บางที่ปรับให้สวยงามขึ้นไปอีก แต่บางทีนำไปปรับกลับดูเป็นการฟ้อนที่ดูแล้วน่าจะเป็นตัวตลกมากกว่าช่างฟ้อน บางแห่งนำไปเด้งหน้า เด้งหลังซึ่งไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าคนเราจะนำไปปรับปรุงก็วอนขอให้อยู่ในขอบเขตของศิลปะและนาฏศิลป์ด้วยเถอะ
นี่!เป็นเพียงเรื่องราวของชีวิตคนเมืองเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น คนเมืองยังมีอะไรๆที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย ประวัติศาสตร์นับร้อยปีของเมืองล้านนา น่าจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความเจริญในอดีตกาล ว่าจะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน คนเมืองไหน ชาติไหนก็คงไม่มหัศจรรย์เท่ากับคนเมือง คนล้านนา อีกเป็นแน่ วิถีการดำเนินชีวิตที่บางคนต้องเอ่ยปากว่าแปลก แต่เป็นเรื่องจริง ช่างน่าเศร้าใจจริงๆว่าคนเมืองแท้ๆนั้นหาน้อยเหลือเกิน บางคนหน้าตาเมืองๆๆจริงๆแต่กลับพูดไทยคำฝรั่งคำ.....?????????.............
“ ลูกหลานคนเมือง.....ฮ้องเพลงฝรั่งได๋ บ่ผิดเพี้ยน แต่บ่ฮู้จักกำว่า ค่าว จ้อย ซอ ฮ่ำ
ลูกหลานคนเมือง.....เต้นเจสเดนซ์ แทงค์โก้และฮิตฮอพ แต่บ่ฮู้จักกำว่า ฟ้อน
ลูกหลานคนเมือง.....กิ๋นแฮมเบอเกอร์ พิซซ่า เซ่เว่นเซนต์ แต่บ่เกยกิ๋น จิ๋นลาบ แกงอ่อม
ลูกหลานคนเมือง.....ใส่เสื้อสายเดี่ยว โชว์สะดือ แต่บ่เกยนุ่งซิ่น ห่มสไบ
ลูกหลานคนเมือง.....มัวแต่เลียนแบบฝรั่ง ตาน้ำขาว หละคนเฒ่า ป้ออุ้ย แม่อุ้ย หื้ออยู่กับความอับเฉา ”
......ถ้าลูกหลานคนเมืองยังเป๋นอยู่จะอี้ กำว่าคนเมืองคงจะจางหายไปจากโลกนี้.....

ไม่มีความคิดเห็น:

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize
ทุกคำบรรยายเพียงจับจ้องและสัมผัสด้วยใจ