วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550

ขุนแผนแสนวิปลาส

เรื่องขุนช้าง-ขุนแผนนี้เป็นวรรณคดีเก่าแก่ของไทยซึ่งเป็นความรักสามเส้าระหว่างขุนช้าง ขุนแผน และนางพิมพิลาไลย(นางวันทอง) เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยอาศัยเค้าเรื่องจริงดังนั้นตัวละครของเรื่องนี้จึงมีลักษณะเป็นตัวละครตัวกลม มีหลากหลายบุคลิกในตัวเดียว การศึกษาพฤติกรรมตัวละครจึงมีประโยชน์อย่างมากในการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ในตอนที่ 16 นี้เป็นตอนที่ขุนแผนมีความคับข้องใจต่อพระราชอำนาจของพระพันวษา และอำนาจของขุนช้างที่สามารถต่อรองกับพระพันวษาได้
ขุนแผนจากผู้ที่เคยมีความดีความชอบและมีอำนาจเมื่อครั้งได้ไปรบที่เชียงใหม่ ในตอนนี้กลับถูกลงโทษโดยพระพันวษาซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ซึ่งขุนแผนก็ไม่สามารถขัดต่ออำนาจที่มีมากกว่าได้จึงต้องถูกลงโทษโดยการไปลาดตระเวนป่า ความไม่มีความยุติธรรมนี้ทำให้ขุนแผนเคียดแค้นในตัวพระพันวษามากแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะพระพันวษานี้มีอำนาจเหนือตนเองมาก ในขณะที่ความเคียดแค้นในตัวขุนช้างก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะขุนช้างได้ไปเพ็จทูลเรื่องขุนแผนหนีเวรจึงต้องโดนลงโทษในครั้งนี้ แม้ขุนแผนจะเก่งกล้าเพียงใด มีเวทมนต์คาถาแข็งแกร่งขนาดไหนแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะอำนาจของพระพันวษานั้นสามารถตัดสินชีวิตคนได้ ในขณะที่ขุนช้างมีอำนาจต่อรองมากกว่าขุนแผน เพ็ดทูลเรื่องอะไรก็ดูน่าเชื่อกว่า ความเคียดแค้นนี้ทำให้ขุนแผนคิดที่จะเอาทุกอย่างคืน และจะเอาทางวันทองคืนมาด้วย “ กูจะไปลักวันทองของกูมา ถ้าติดตามแล้วจะฆ่าเสียให้ป่น “(1) ดังนั้นขุนแผนจึงต้องแสวงหาอำนาจนอกระบบ นั่นคือ การตีดาบซื้อม้าหากุมาร ขุนแผนคิดว่าการที่ได้ของวิเศษทั้งสามสิ่งนี้จะเพิ่มอิทธิฤทธิ์ และในขณะเดียวกันนั้นก็เป็นการสร้างกำลังใจ เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง “ ถ้าสามสิ่งนี้ได้สมอารมณ์นึก จะอึกทึกมาอย่างไรก็ไม่กลัว “ (1)
การเสาะแสวงหาของวิเศษจึงดำเนินการขึ้น โดยขุนแผนเข้าป่าอย่างไม่มีจุดหมาย จนกระทั่งเข้าไปพบนางบัวคลี่ที่ซ่องโจรของหมื่นหาญ ความคิดที่มุ่งไปอย่างไร้จุดหมายของขุนแผนก็หยุดลงพร้อมๆกับ ที่กำลังวางแผนเพื่อให้ได้ซึ่งของวิเศษมา ขุนแผนพบนางบัวคลี่นั้นก็แสดงจุดมุ่งหมายในความต้องการของวิเศษมากกว่าที่จะรักนางบัวคลี่ “ พินิจน้องก็ต้องตำรับนัก เข้าประจักษ์แจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ ถ้าเกิดบุตรหัวปีมีด้วยกัน แม่นมั่นคงเป็นชายเหมือนหมายมา “ (3) จะเห็นว่าการแสดงจุดมุ่งหมายของขุนแผนนั้นมีความต้องการลูกชายที่จะต้องเกิดกับนาง และขุนแผนก็ต้องได้อย่างที่คิดไว้ นางบัวคลี่จึงเป็นเหมือนเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการที่จะได้ของวิเศษมา แผนในขั้นต่อมาคือการแกล้งเป็นคนที่ไม่มีวิชาอาคมและเข้าช่วยเหลือหมื่นหาญจนต้องยกนางบัวคลี่ให้ซึ่งแผนนี้ก็สำเร็จไปด้วยดี จะสังเกตว่าขุนแผนเริ่มได้รับการตอบสนองจากแผนของขุนแผนทำให้ความคับข้องใจนั้นถูกเก็บเอาไว้ภายใต้จิตใจที่ยังปรารถนาในของวิเศษ เพราะในขั้นต้นนี้ทำให้ขุนแผนพอใจในระดับ และจะเป็นจุดที่ทำให้ขุนแผนได้อำนาจและทุกสิ่งทุกอย่างกลับมา ในแผนขั้นสุดท้ายนั้นขุนแผนได้ใช้ความยียวนทำให้หมื่นหาญและนางจันทน์นั้นไม่พอใจในตัวขุนแผน แผนนี้เป็นจุดที่ก่อให้เกิดการวางแผนฆ่าขุนแผน ซึ่งก็จะทำให้ขุนแผนนั้นมีความชอบธรรมในการฆ่านางบัวคลี่ ในขั้นนี้ขุนแผนแสร้งทำตัวเป็นผู้ชายไม่เอาไหนที่ต่างกับพวกบ่าวไพร่ที่ออกไปปล้นชิงทรัพย์มาเลี้ยงซ่องโจรของหมื่นหาญ โดยอ้างว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการผิดศีลธรรม จากคำพูดของขุนแผนในตอนนี้ทำให้เห็นว่าในสภาวะจิตปกตินั้นขุนแผนเองก็มีมโนธรรมในการดำเนินชีวิต จากนั้นจึงมีการโต้เถียงกันระหว่างพ่อตาและลูกเขยแม้หมื่นหาญนั้นจะด่าทอ ถากถางอย่างไรนั้นขุนแผนก็ไม่รู้สึกโกรธอย่างจริงจัง เพียงแต่พูดตอบต่อด้วยการยอกย้อน แต่เมื่อหมื่นหาญพูดถูกถึงศักดิ์ศรีของความเป็นชายนั้น ขุนแผนก็เดือดดานขึ้นมาจริงๆ “ เหมือนตัวเอ็งอ้อนแอ่นแค่นอวดอ้าง ดูกิริยาท่าทางอย่างผู้หญิง “ (12) ขุนแผนก็โกรธขึ้นมา การดูหมิ่นในความเป็นชายเป็นเหตุให้ขุนแผนต้องมีการปะทะกำลังกับคนในซ่องโจร การกระทำเช่นนี้ทำให้แผนขุนแผนลุล่วงไปได้ด้วยดีกว่าที่ขุนแผนคิด คือ ประการแรกลูกน้องของหมื่นหาญนั้นเกรงกลัวอำนาจ อิทธิฤทธิ์ของขุนแผน เป็นผลให้ตอนท้ายของตอนนี้ลูกน้องของหมื่นหาญไม่กล้าที่จะทำร้ายขุนแผน เหมือนเป็นการตัดไม้ข่มนามเอาไว้ก่อน ประการสำคัญคือ ทำให้แผนในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่านางบัวคลี่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อปะทะกำลังกันแล้วหมื่นหาญก็คิดฆ่าขุนแผนด้วยเพราะหมื่นหาญนั้นคิดว่า ราชสีห์สองตัวอยู่ด้วยกันไม่ได้ แผนลวงฆ่าขุนแผนจึงมีขึ้นโดยหมื่นหาญนั้นได้ให้นางบัวคลี่เป็นผู้ใส่ยาพิษในกับข้าวของขุนแผนแต่ขุนแผนรู้ทัน จึงเป็นข้ออ้างอันดีที่จะฆ่านางบัวคลี่ได้อย่างไม่รู้สึกผิด นางบัวคลี่ซึ่งมีความอยากได้ในทรัพย์สินเงินทอง ที่หมื่นหาญเสนอให้จึงตกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฆ่าขุนแผน นางบัวคลี่นั้นเหมือนจะเป็นเหยื่อของความสำเร็จของผู้ชายถึงสองคน คือ ขุนแผน และ พ่อ(หมื่นหาญ) ในขณะที่ขุนแผนซึ่งเป็นสามีกับหมื่นหาญที่เป็นพ่อ นางบัวคลี่ก็ไม่ได้เลือกเพราะความสัมพันธ์ทั้งสองอย่างแต่เหตุผลที่นางเลือกที่จะฆ่าขุนแผนนั้นเพราะความโลภต่อทรัพย์สมบัติต่างหาก โดยใช้ความกตัญญูเป็นข้ออ้างและนางบังคลี่เองก็ไม่ได้รักขุนแผนตั้งแต่ต้นแต่เป็นเพียงแค่ความหลง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นางบัวคลี่จะตัดสินจอย่างรวดเร็วในการที่จะลงมือฆ่าขุนแผน “ กำลังรักพลายแก้วดังแววตา แต่อยู่มาไม่กระเดื่องเคืองอารมณ์ แต่ใจนึกมักมากอยากได้ของ ด้วยพ่อเอาเงินทองเข้าทับถม เป็นอกุศลดลจิตคิดนิยม จะต้องตายทั้งกลมจึงกลับใจ “ (16)
เมื่อนางบัวคลี่ใส่ยาพิษในกับข้าวของขุนแผนแต่ขุนแผนก็แสร้งว่าตัวเองนั้นโดนยาพิษรู้ไม่ทันแผนของนางบัวคลี่ นางบัวคลี่จึงวางใจ ก่อนที่ขุนแผนจะนอน ขุนแผนก็ได้ขอลูกจากนางบัวคลี่ ซึ่งนางก็ให้ ความปรารถนาของขุนแผนก็เป็นจริง ความคับข้องภายในจิตใจของขุนแผนก็เริ่มคลายออกมาพร้อมกับการกระทำที่ก้าวร้าว ทารุณ ในทางจิตวิเคราะห์นั้นจะเห็นว่า แรงกระตุ้นในตัวขุนแผนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่เจอนางบัวคลี่จนจะฆ่านางบัวคลี่ แรงกระตุ้นที่อยากได้กุมารทองนั้นมีมากกว่าแรงต้านทานของมโนธรรม ขุนแผนเลยยิ่งฆ่านางบัวคลี่อย่างไม่รู้สึกผิดบาปได้
ในขณะที่ฆ่านางบัวคลี่นั้นขุนแผนก็ได้เป่าคาถาให้นางบัวคลี่หลับ และฆ่านางบัวคลี่ด้วยการใช้มีดปักอกและผ่าลงมาถึงท้อง นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งอธิบายว่าความวิปริตทางเพศชนิดทำให้ผู้อื่นเจ็บที่เรียกว่า ซาดิสม์นี้ จะแสดงออกมารุนแรงถึงขั้นฆาตกรรมได้เนื่องจากความรักและความเกลียดซึ่งมีอยู่ควบคู่กันในจิตใต้สำนึก ในการแสดงออกจึงมีทั้งการแสดงความรักและการทำให้เจ็บอย่างรนแรงถึงที่สุดซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (ชลธิรา : 2512 ,116) ก่อนลงมือฆ่านั้นขุนแผนยิ่งทำให้นางบัวคลี่ตายใจว่าขุนแผนไม่รู้เท่าทัน และทำให้นางตายใจ “ เจ้าพลายแก้วอิงแอบเข้าแนบห้อง กอดจูบลูบต้องให้ตายใจ “ (18) ในขณะที่จะลงมือฆ่านั้นแรงกระตุ้น(ความอยากได้กุมารทอง)และแรงต้านทาน(ความสำนึกผิดบาป)นั้นได้ผลักดันให้ขุนแผนเกิดการสับสนเพราะการกระทำของนางบัวคลี่เป็นตัวกระตุ้นให้แรงกระตุ้นความคับข้องใจที่อยู่ภายใต้จิตใจของขุนแผนนั้นระเบิดออกมา แต่แรงต้านทานของความสัมพันธ์ระหว่างผัว เมีย นั้นก็มีอยู่ สุดท้ายแรงกระตุ้นซึ่งมีมากกว่าแรงต้านทานจึงทำให้ขุนแผนต้องฆ่านาง “ ยืนขึ้นบนเตียงเข้าเคียงข้าง พินิจนางนิ่งนอนถอนใจใหญ่ ไม่รู้เลยว่าร่างมันร้างใจ จะฆ่าผัวเสียได้ช่างไม่คิด และชักมีดตั้งท่าง่าขยับ ใจกลับมืออ่อนสะท้อนจิต และกลับนึกขึ้นถึงนางวางยาพิษ เอาชีวิตเสียเถิดอย่าไว้มัน “ (18-19) ในที่สุดความคับข้องใจโดยเฉพาะความปรารถนาที่จะทำร้ายนั้นก็รวบรวมเป็นแรงผลักดันให้การกระทำอันโหดร้าย ทารุณ และรุนแรง ซึ่งเกิดจากสัณชาตญาณมุ่งตาย(ชลธิรา : 2512,117) ดังคำบรรยายที่ว่า “ เอามีดกร่ำตำอกเข้าต้ำอก เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน เลือดก็ดิ้นดาดแดงดังแทงควาย”(19) ขุนแผนจะสะกดให้นางหลับแต่บทกลอนกลับสะท้อนให้เห็นถึงการตายอย่างทุลทุลาย “...กระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน...”(19) โดยที่ขุนแผนก็เห็นแต่ขุนแผนก็ไม่มีความรู้สึกผิดบาปแต่กลับเป็นพลังให้แรงกระตุ้นในตัวขุนแผนให้แสดงออกความก้าวร้าวออกมาอีก ความรุนแรงของขุนแผนนั้นไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่การฆ่านางบัวคลี่เท่านั้น สิ่งที่ทำให้ขุนแผนคับข้องใจมาก คือ การอยากได้ลูกในท้องของนางบัวคลี่ ขุนแผนจึงแสดงการกระทำซึ่งผิดปกติทางจิต ภายใต้จิตสำนึกซึ่งต้องการลูกซึ่งต้องการลูกชายมาทำกุมารทอง “ แล้วผ่าแผ่แล่แล่งตลอดอก แหวะหวะฉะรกให้ขาดสาย พินิจแน่แลเห็นว่าเป็นชาย ก็สมหมายดีใจไม่รั้งรอ อุ้มเอาทารกยกจากท้อง กุมารทองมาเถิดไปกับพ่อ “(19) การกระทำของขุนแผนที่ทำให้เห็นถึงความวิปริตทางจิตของขุนแผนนั้นไม่ได้เริ่มที่จะมีแต่มีมานานแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความคับข้องใจในความอยากได้ของวิเศษทั้ง 3 อย่าง การกระทำที่สะท้อนสภาพจิตของขุนแผนนั้นเริ่มจากการที่หาหนทางอย่างไร้จุดหมายกระเซอะกระเซิงอยู่ในป่าด้วยสภาพจิตที่ไม่เป็นปกติ “ เที่ยวค้นคว้าหาของที่ต้องอย่าง นอนค้างไปตามตรอกซองสิงขร เข้าบ้านกะเหรี่ยงข่าละว้ามอญ สู้ซอกซอนซุกซนเที่ยวค้นไป” (2) จนกระทั่งขุนแผนฆ่านางบัวคลี่อย่างไร้สำนึกผิดบาป และที่สำคัญการกระทำย่างกุมารเป็นภาพที่น่ากลัวและคนปกติที่มีจิตปกติไม่สามารถทำได้ ที่ขุนแผนทำได้นั้นอาจเพราะว่า ขุนแผนถูกแรงกระตุ้น ผลักดันออกมาก็เป็นได้ จิตใต้สำนึกของขุนแผนมีแต่ความคับข้องใจในความอยากได้ของวิเศษเพื่อที่จะทำให้ตนกลับมามีอำนาจดังเดิม อีกประการหนึ่งก็คือ จิตขิงขุนแผนนั้นเฝ้าคิดแต่จะเพิ่มอิทธิฤทธิ์ให้กับตนเองเพื่อไปทวงสิทธิ์และความยุติธรรมคืนจากพระพันวษาและขุนช้าง การที่ขุนแผนแหวะท้องเอาลูกของตนเองเอามาทำกุมารทองอย่างไม่สะทกสะท้านนั้นเพราะขุนแผนมีความคิดถึงความยุติธรรม ความจงรักภักดี ศักดิ์ศรีของผู้ชายเหนือความสัมพันธ์ของพ่อลูก กุมารทองจึงเปลี่ยนไปจากความสัมพันธ์พ่อลูก แต่กลับเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ของนายและบ่าว การมีกุมารทองนั้นจะทำให้ตนเองได้รับความยุติธรรมจากพระพันวษาและศักดิ์ศรีของลูกผู้ชายที่ถูกแย่งเมียไปกลับคืนมา ในขณะที่ขุนแผนยกข้ออ้างในความชอบธรรมในการฆ่านางบังคลี่ แหวะท้องเอากุมาร อีกประการหนึ่งคือ การอ้างตำราในการทำ
พฤติกรรมของขุนแผนในกรณีที่ฆ่าบัวคลี่และย่างกุมารทองนี้ ตามความเข้าใจหรือความเชื่อถือที่มีมากแต่เดิม จัดว่าเป็นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ผู้อ่านทั่วไปจึงมักจะพิจารณาว่าขุนแผนมิได้ทำสิ่งที่ผิดปกติ หากทำไปตามความเชื่อถือซึ่งมีมาแต่โบราณ ดังนั้นการฆ่าโดยผ่าท้องและนำตัวทารกออกมาจากครรภ์จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณ เพราะตามคำบรรยายก็แสดงวิธีย่างว่า “พร้อมสันในตำราถูกท่าทาง” (ชลธิรา : 2512,118)
แม้ขุนแผนจะอ้างตำราซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ถูกใครๆก็ทำได้ ถ้าทำตามตำรากล่าวไว้ แต่หากมองในเรื่องของจิตนั้นขุนแผนมีสภาพจิตที่ไม่ปกติ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการกระทำโดยที่ขุนแผนไม่รู้ตัว หรือ เป็นการแสดงออกโดยมีแรงกระตุ้นควบคุมอยู่ สิ่งที่กระตุ้นให้ขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ คือความคับข้องใจ ซึ่งเกิดจากนางไม่ซื่อสัตย์ต่อตน (ชลธิรา : 2512,118) การกระทำของขุนแผนเช่นนี้เป็นการหาเหตุผลจากสิ่งแวดล้อมหรือโลกภายนอกให้เข้าข้างตนเอง (Rationalization) เป็นการหลบหลีกหรือหลบเลี่ยงความรับผิดชอบของตนเอง โดยโยนความรับผิดชอบไปให้คนอื่นหรือลงโทษบุคคลอื่นแทน (ซึ่งในที่นี้คือการฆ่านางบัวคลี่) เพื่อลงมือกระทำสิ่งที่ Superego ไม่พึงพอใจได้อย่างสะดวกใจ ในการกระทำดังกล่าวบุคคล (ขุนแผน) จะอยู่ในสภาพไร้สำนึก (ชลธิรา: 2512,29) ซึ่งนอกจากนี้แล้วขุนแผนยังได้ใช้วิธีป้ายผิดให้กับนางบัวคลี่ กล่าวคือ ขุนแผนพยายามเปลี่ยนความรู้สึกของมโนธรรม ความรู้สึกผิดบาป ให้กลายมาเป็นความชอบธรรมในการฆ่าเพื่อตอบสนองความต้องการภายในจิตใต้สำนึก ดังในตอนหนึ่งที่ขุนแผนลังเลใจในการฆ่านางบัวคลี่ “ แล้วชักมีดตั้งท่าง่าขยับ ใจกลับมืออ่อนสะท้อนจิต แล้วกลับนึกถึงนางวางยาพิษ เอาชีวิตเถิดอย่าไว้มัน “ (19) พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการเก็บกดของขุนแผนที่มีมาตั้งแต่เด็ก ขุนแผนพยายามอดกลั้นหรือหน่วงเหนี่ยวแรงกระตุ้นโดยบิดเบือนความทรงจำในวัยเด็กที่ครอบครัวต้องมีสภาพแบบครอบครัวแตกแยกนั้น ขุนแผนพยายามกดเรื่องเลวร้ายนี้ให้ลงไปในส่วนลึกของจิตใจ ด้วยความขมขื่นใจที่ขุนแผนไม่มีพ่อ และด้วยเหตุนี้เองขุนแผนจึงต้องหาสิ่งที่มาทดแทนและเลียนแบบ คือต้องหาต้นแบบให้กับความเป็นชาย จึงมักจะพยายามเลียนแบบคนที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนพ่อในอุดมคติ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า Identification คือ การปรับตัวเองให้เหมือนผู้อื่น
ผู้ที่มีบทบาทในการเป็นต้นแบบมี 2 คน คือ พระพันวษาและท่านสมภารวัดป่าเลย์ไลย์ ทั้งสองคนเป็นต้นแบบทั้งทางด้านจิตในและความคิดของขุนแผนตลอดมา ท่านสมภารเป็นคนที่ปลูกฝังในเรื่องของวิชาความรู้และอบรมสั่งสอนในเรื่องของศีลธรรมจรรยา เป็นผู้ที่สร้างทัศนะของขุนแผนเป็นแบบอย่างของมาตรฐานคุณความดี ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกว่า Ego Ideal หรือ อุดมคติ (ชลธิรา: 2512,19) แต่ท่านสมภารนั้นขุนแผนก็ไม่ได้เลือกนำมาเป็นแบบอย่างทั้งหมด เพราะจิตใต้สำนึกของขุนแผนจริงๆแล้วต้องการอำนาจ เพราะเมื่อครั้งยังเป็นเด็กนั้นขุนแผนก็ได้เห็นแล้วว่าอำนาจบันดาลได้ทุกอย่าง กล่าวคือ อำนาจสามารถทำให้ครอบครัวขุนแผนมีความสุข และอำนาจอีกเช่นเดียวกันที่ทำให้ครอบครัวของขุนแผนต้องแตกขาดกันไป ตัวอย่างของอำนาจดังกล่าวนั่นก็คือ พระพันวษานั้นเอง พระพันวษาเป็นตัวแทนของแม่แบบหรือพ่อในอุดมคติของขุนแผน ขุนแผนต้องการมีอำนาจเช่นเดียวกับพระพันวษา เพราะจิตใต้สำนึกของขุนแผนรู้ดีว่าความสุขและสิ่งต่างๆจะได้เพราะอำนาจ ในขณะที่พระพันวษาเป็นความต้องการลึกๆของจิตใจ แต่ขุนแผนกลับถูกสั่งสอนมโนธรรม โดยท่านสมภาร ดังนั้นเมื่อมีโอกาสขุนแผนจึงมักฉวยโอกาสนั้นไว้เพื่อสร้างอำนาจให้กับตัวเองตลอดมา เช่นเดียวกับการออกแสวงหาอำนาจนอกระบบ โดยมีความต้องการในอำนาจ ของตัวเองเป็นตัวควบคุม ดังนั้นพฤติกรรมก้าวร้าวและทารุณของขุนแผนจึงเป็นเหมือน ตัวแทนการแสดงออกในสิ่งที่ขุนแผนเก็บกดมาทั้งชีวิต นั่นคือ ความไม่มีพ่อ และ การแสวงหาอำนาจ ในขณะที่หมื่นหาญเป็นคนที่ทำให้ถึงความก้าวร้าวในการใช้กำลังในการช่วงชิงในของที่ตนอยากได้ ซึ่งขุนแผนก็เลียนแบบหมื่นหาญโดยการช่วงชิงโดยใช้กำลังเหมือนกัน คือ การฆ่านางบัวคลี่ โดยที่ขุนแผนไม่ได้มีสำนึกความผิดบาปเพราะมีตัวอย่างให้เห็นหมื่นหาญปล้าชิงทรัพย์หาเลี้ยงชีพ ขุนแผนก็ฆ่านางบัวคลี่เพราะอยากได้กุมารซึ่งขุนแผนก็เลียนแบบความรุนแรงมาจากหมื่นหาญอีกทางหนึ่งด้วย
พฤติกรรมทั้งหมดของขุนแผนนั้นเป็นไปตามหลักของการให้สมปรารถนา(Wish-fulfillment)(ชลธิรา: 2512,16) ของสัญชาตญาณโดยไม่มีการต้านทานของมโนธรรม ความผิดปกติของจิตใต้สำนึกที่มีแรงกระตุนมากกว่าแรงต้านทาน คือ มีความอยากได้ในของวิเศษมากกว่าความรู้สึกผิดบาปหรือมโนธรรม ก็มีปรากฏอยู่ในจิตใต้สำนึกของขุนแผน และถูกเสนอออกมาในรูปแบบของความก้าวร้าวและทารุณจนทำให้ขุนแผนกลายเป็นฆาตกรที่กระทำการอย่างโหดร้ายผิดปกติ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสัญชาตญาณมุ่งตายถูกเร้าโดยความคับข้องใจในความอยากได้กุมารทอง และถูกรบเร้าอย่างรุนแรงจากแรงกระตุ้นภายในใจ จึงทำให้ขุนแผนมีจิตใจวิปลาสไปชั่วขณะหนึ่งก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize
ทุกคำบรรยายเพียงจับจ้องและสัมผัสด้วยใจ