วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เมื่อผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงจะยิงเรือทำไม?

สมัยเด็กๆนั้นเคยมีสำนวนไทยที่สงสัย ผู้เขียนเองก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมผู้ชายถึงพายเรือ แล้วผู้หญิงทำไมถึงต้องยิงเรือ? เคยเรียนถามผู้ใหญ่ที่บ้านอยู่เนืองๆว่า ทำไมต้องเป็นแบบนี้ หลายท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่า ผู้หญิงที่จะยิงเรือนั้นเพราะคอยที่จะทำลายเรือของผู้ชาย ผู้หญิงประเภทนี้ไม่น่าคบเอาเลย
เมื่อดูถึงความหมายของสำนวนไทยที่ว่า “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ” นั้นในโบราณได้เปรียบการพายเรือเสมือนกับหนทางเข้าสู่นิพพาน ส่วนผู้หญิงนั้นเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุนิพพานนั่นเอง ในปัจจุบันความหมายก็เปลี่ยนไปผู้ชายเจ้าชู้ ผู้หญิงก็ไม่ดี ซึ่งความหมายเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม
เมื่อครั้งอาจารย์ของผู้เขียนได้สั่งให้อ่านหนังสือเรื่อง บ่อเกิดรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 นั้น ก็พบว่า พระองค์ท่านใช้สำนวนนี้ว่า “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” ซึ่งผู้เขียนแปลกใจว่า ในสมัยพระองค์กับสมัยปัจจุบัน เหตุใด “ริง” ถึงกลายเป็น “ยิง” ไปได้ สาเหตุของการกลายเสียงแบบนี้อาจจะทำให้คนปัจจุบันเข้าใจความหมายของสำนวนเก่านี้ก็เป็นได้
ด้านวรรณศิลป์ของสำนวนนี้มีสัมผัสที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงริงเรือ มีสัมผัสสระในคำว่า “หญิง – ริง” และมีสัมผัสพยัญชนะที่คำว่า “ริง – เรือ” ถ้าเป็นแบบนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่า ปัจจุบันน่าจะเข้าใจผิดที่ผู้หญิงยิงเรือ เพราะในแง่วรรณศิลป์คนโบราณน่าจะสร้างสำนวนนี้ให้มีทั้งสัมผัสสระและพยัญชนะก็เป็นได้
หากเรามองในด้านภาษานั้น อาจจะสันนิษฐานได้ว่า การที่คำว่า “ริง” นั้นกลายเป็น “ยิง” อาจจะเป็นการกลมกลืนเสียงของภาษา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของภาษาไทยอยู่แล้ว การกลมกลืนเสียง คือ การที่เสียงพยางค์หลังถูกเสียงพยางค์หน้านั้นกลมกลืนทำให้เป็นเสียงเดียวกัน เช่น อย่างไร กลายเป็น อย่างไรในที่นี้จะเห็นได้ว่า เสียง “ง” เป็นเสียงที่ออกง่ายกว่า “ร” เนื่องจากเสียง “ร” เป็นเสียงรัว ซึ่งออกยากกว่า “ง” คงเป็นทำนองเดียวกัน เราจะเห็นจากรูปประโยคที่ว่า
ผู้หญิงริงเรือ เมื่อเสียง “ย” (รูป “ญ” ในภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงเป็น “ย” เช่นเดียวกับรูป “ย” แต่ในภาษาไทยถิ่นนั้นรูป “ญ” ยังคงออกเสียงเป็น “ญ” อยู่ คือ ออกเสียงเป็นเสียงพยัญชนะนาสิก หรือ ที่เรารู้จักกันคือ เสียงที่ขึ้นจมูกนั่นเอง) เป็นเสียงที่ออกง่ายกว่า เสียง “ร” ซึ่งเป็นเสียงรัว อวัยวะในช่องต้องกระดกลิ้นเพื่อให้ลมออกมาข้างลิ้น (ถ้าหากไม่มีการฝึกหัดจะไม่สามารถออกเสียงแบบนี้ได้ เสียงรัวในภาษามีหลายแบบ เช่น เสียง “r”ที่รัวในหน้าอก ในภาษาฝรั่งเศส หรือ เสียง “r” ในภาษาฮินดี บาลีและสันสกฤตที่ออกเสียงรัวที่ปลายลิ้น) คนไทยซึ่งมีความนิยมรักสบายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะออกเสียงที่ง่ายมากกว่าการออกเสียงที่ยากกว่า ในที่นี้ก็คือ เลือกที่จะออกเสียง “ย” แทนที่จะออกเสียง “ร” ดังนั้นเราจึงได้สำนวนไทยใหม่ คือ ผู้หญิงยิงเรือ ตามการกลมกลืนเสียงของลักษณะทางภาษา
เมื่อเราเข้าใจแบบนี้ก็จะเห็นว่า คนไทยปัจจุบันเข้าใจสำนวนผิดและให้ความเป็นมาของสำนวนอย่างผิดๆ กล่าวคือ เรามักให้ความเป็นมาว่าผู้หญิงยิงเรือนั้น เหตุที่ต้องยิงเรือ เนื่องจากผู้หญิงมีปืนหรืออาวุธร้ายที่คอยจะทำลายเรือของผู้ชาย
ในวรรณคดีเก่าครั้งอยุธยา เรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ได้กล่าวว่า ผู้ชายพายเรืออยู่เต็มไป ในเรื่องพระอภัยมณีก็กล่าวไว้ว่า เห็นผู้หญิงริงเรือที่เนื้อเหลือง ถ้าเราจะสันนิษฐานความหมายจากวรรณคดีเหล่านี้ ก็คงสรุปได้เพียงว่า ผู้ชายพายเรือ ก็คือ ผู้ชายธรรมดาทั่วไป ส่วนผู้หญิงริงเรือ ก็หมายความว่า ผู้หญิงธรรมดาทั่วไป สำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ก็ให้ความหมายแบบเดียวกัน ไม่ว่า “ผู้หญิงจะริงเรือ หรือ ผู้หญิงจะยิงเรือ” ในสำนวนไทยทั้งสองยุคก็ให้ความหมายที่ไม่ดีของความเป็นผู้หญิง แต่เป็นไปในทัศนะที่ต่างกัน คือ ในอดีตผู้หญิงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่นิพพาน แต่ในปัจจุบันผู้หญิงมีอาวุธที่คอยทำลายผู้ชาย เอาเป็นว่าอย่างไรนั้นผู้หญิงก็คือ เครื่องขัดขวางความสำเร็จของผู้ชาย ไม่ว่าผู้หญิงจะอยู่ในยุคใดสมัยใด ก็ตกอยู่เพียงใต้อำนาจของผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไทยนี่น่าสงสารเสียนี่กระไร.

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อุณรุทร้อยเรื่อง : Scary Movie เมืองไทย

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสดูภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องหนึ่ง คือ Scary Movie (ซึ่งเป็นหนังที่ซื้อมานานมากแล้ว เผอิญสบโอกาสมีเวลาว่างเลยได้นั่งดูเสียที) ผมติดใจเรื่องนี้พอควรไม่ใช่ด้วยหนังเป็นหนังตลก แต่ด้วยเพราะแนวคิดในการสร้างหนังที่ผิดขนบหนังฝรั่ง คือ นำหนังหลายๆเรื่องมาผสมปนเปจนเกิดเรื่องใหม่ ผมว่านอกจากจะสนุกแล้ว ยังเจ๋งมากด้วย
ผมนั่งดูจนจบเรื่องก็ขำไปคิดไปเรื่อยเปื่อย นึกขึ้นได้ว่าเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ปี ๒ ผมได้เรียนวิชา พัฒนาการวรรณคดีไทย มีวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆกันกับหนังเรื่องนี้ คือ บทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง ของ คุณสุวรรณ
[๑] ที่ได้นำเอาตัวละครในวรรณคดีหลายเรื่อง คือ อุณรุท อิเหนา รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี พระรถเมรี จันทโครบ กากี พระลอ สุวรรณหงส์ ลักษณวงศ์ โคบุตร สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ คาวี เหตุที่เรียกกันว่าอุณรุทร้อยเรื่องเพราะในเรื่องนี้มีตัวละครทั้งหมด[๒] ๑๔๔ ตัว ซึ่งมาจากวรรณคดีไทย ๕๑ เรื่อง มาแต่งรวมปนเปจินตนาการขึ้นมาใหม่ ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวรรณคดีไทยสมัยนั้น
เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระยายักษ์ชื่อท้าวกรุงพาณ ครองรัตนานคร ประพฤติเป็นพาล ก่อความเดือดร้อนแก่เหล่าเทวดาและนางฟ้า ครั้งหนึ่งทำอุบายลอบเข้าชมนางสุจิตรามเหสีของพระอินทร์ พระอิศวรต้องทูลเชิญพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดในเมืองณรงกา ทรงพระนามว่าพระบรมจักรกฤษณ์ มีมเหสีชื่อจันทมาลีและพระโอรสชื่อไกรสุท ต่อมาพระไกรสุทได้อภิเษกกับนางรัตนา มีโอรสชื่ออุณรุท ซึ่งได้อภิเษกกับนางศรีสุดา นางสุจิตรามีความแค้นเคืองท้าวกรุงพาณ ปรารถนาจะจุติไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อแก้แค้น พระอินทร์จึงพานางไปเฝ้าขอพรจากพระอิศวร นางได้รับเทวบัญชาให้ไปเกิดในดอกบัว ฤๅษีสุธาวาสเก็บไปเลี้ยงก็ตั้งชื่อว่านางอุษา ต่อมาท้าวกรุงพาณก็ขอไปเลี้ยงดูเป็นธิดาบุญธรรม วันหนึ่งพระอุณรุทได้พานางศรีสุดาประพาสป่าล่าสัตว์ พระอินทร์ให้มาตุลีแปลงเป็นกวางทองมาล่อ นางศรีสุดาใคร่ได้กวางทองจึงของให้พระอุณรุทไล่จับ กวางทองจึงแสร้งหนีไปทางด้านที่พระอุณรุทสกัดอยู่ พระอุณรุทให้นางศรีสุดากลับเข้าเมืองไปก่อน ส่วนพระองค์จะไล่จับกวางต่อไป โดยมีราชบริพาธส่วนหนึ่งตามเสด็จ จนได้พักแรมที่ร่มไทรใหญ่ ก่อนบรรทมพระอุณรุทบวงสรวงขอพรพระไทรเทพารักษ์ พระไทรทรงเมตตาอุ้มไปสมนางอุษาและสะกดไม่ให้ทั้งสองพูดจากัน พอใกล้รุ่งก็อุ้มพระอุณรุทกลับมาที่เดิม พระอุณรุทก็คร่ำครวญถึงนางอุษา จนพระพี่เลี้ยงต้องพากลับเมือง ฝ่ายนางอุษาก็เศร้าโศกถึงพระอุณรุท นางศุภลักษณ์พรพี่เลี้ยงใคร่ทราบว่าชายใดที่นางอุษาหลงรัก จึงวาดรูปเทวดาและกษัตริย์ให้นางชี้ตัว ครั้นทราบว่าเป็นพระอุณรุทจึงเหาะมาสะกดไว้ที่พระตำหนัก ทศมุขอนุชาของนางอุษาทราบความจึงไปบอกท้าวกรุงพาณบิดา ท้าวกรุงพาณขอให้ท้าวกำพลนาค ซึ่งเป็นสหายมาร่วมรบกับพระอุณรุท ท้าวกำพลนาคจับพระอุณรุทมัดตอนหลับแล้วนำไปประจานที่ยอดปราสาท เทวดาทั้งหลายทราบข่าวก็พากันไปกราบทูลพระบรมจักรกฤษณ์ พระองค์ทรงครุฑมาช่วยพร้อมกับมอบธำมรงค์วิเศษไว้ให้ พระอุณรุทปราบท้าวกรุงพาณได้แล้วอภิเษกทศมุขขึ้นครองเมืองแทน พระอุณรุทกับนางอุษากลับไปครองเมืองณรงกา นางศรีสุดาเกิดหึงแต่ก็สามารถประนีประนอมในภายหลังได้ พระอุณรุทกลับไปคล้องช้างได้นางกินรีห้านางและปราบวิทยาธรชื่อวิรุฬเมศ ครั้นได้ช้างเผือกแล้วก็กลับมาครองเมืองเป็นสุขสืบมา
จุดที่น่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ต่างๆของอุณรุทร้อยเรื่องที่เป็นการนำเหตุการณ์เด่นๆในวรรณคดีมาเรียงร้อยใหม่จนดูสับสน แต่จุดที่น่าสนใจของอุณรุทอยู่ที่กระบวนความและความเป็นอัจฉริยภาพทางบทละครของคุณสุวรรณมากกว่า กล่าวคือ คุณสุวรรณต้องการจะแต่งให้เป็นกลอนบทละคร ฉะนั้น ฉันทลักษณ์ จำนวนคำ รวมทั้งเพลงดนตรี คุณสุวรรณก็ได้รังสรรค์อย่างเคร่งครัดไม่ได้ผิดขนบการแต่งกลอนบทละครของไทยแม้แต่น้อยเลย
“ จำจะยกธาคลาไคล ตามองค์พระอภัยเชษฐา
ว่าพลางนางแปลงกายา เป็นองค์สุดาเยาวมาลย์
รี้พลให้กลายเป็นโยธา ไอยราแปลงเป็นคชสาร
พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ พระพรหมานแปลงท้าวธาดา
ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช สกุณชาติแปลงเป็นปักษา
พระราเมศให้แปลงเป็นพระรามา พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี
พระยาครุฑแปลงเป็นสุบรรณจร วานรแปลงเป็นกระบี่ศรี
นาคาเป็นพระยาวาสุกรี โกสีย์แปลงเป็นท้าวสหัสนัยน์….. “
(อุณรุทร้อยเรื่อง ใน รวมวรรณคดี ๕ เรื่อง,๒๕๔๕ : ๔๒-๔๓)
จุดที่น่าสังเกต คือ นักวรรณคดีส่วนใหญ่มักกะสันนิษฐานว่าคุณสุวรรณนั้นต้องเป็นบ้าอย่างแน่แท้ “.....คุณสุวรรณมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔
[๓] เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในกระบวนแต่งกลอน.....” แต่ไม่ว่าคุณสุวรรณจะบ้าหรือไม่บ้านั้นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ ความเป็นอัจฉริยภาพทางวรรณคดีของคุณสุวรรณต่างหาก กล่าวคือ อัจฉริยภาพประการแรก คือ คุณสุวรรณจะต้องเป็นผู้รู้ และต้องสนใจในวรรณคดีไทยเป็นอย่างมาก (อาจจะด้วยเพราะทำงานรับราชการในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็เป็นได้) อัจฉริยภาพประการถัดมา คุณสุวรรณมีความจำดีมากๆ (ถ้าบ้าจริง คงจะต้องเรียกว่า “บ้าวรรณดี” เสียมากกว่า) คือ จดจำวรรณคดีไทยได้อย่างมากมาย (อย่างน้อยๆก็ ๕๑ เรื่อง) อัจฉริยาภาพด้านสุดท้าย คือ เทคนิคการผูกเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง ของ คุณสุวรรณ ไม่ได้ผูกเรื่องแบบส่งๆไป แต่กลับผูกเรื่องได้อย่างแนบเนียน กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า เป็นเอกภาพ แต่ละเหตุการณ์ก็ร้อยเรียงกันอย่างน่าติดตาม กล่าวคือ ลำดับจากเรื่องที่คนรู้จักมากไปหาเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่ละเหตุการณ์ก็มีความสอดคล้องกันอย่างดี ที่เราเรียกกันว่า มีสัมพันธภาพ แม้เรื่องนี้จะไม่ค่อยมี สารัตถภาพมากสักเท่าใด แต่แก่นของเรื่องนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แสดงให้เห็นว่าคุณสุวรรณก็เข้าใจถึงหลักธรรมเช่นกัน
อาจจะกล่าวได้ว่า ความดีเด่นของอุณรุทร้อยเรื่อง ไม่ได้อยู่ที่ว่าเนื้อเรื่องสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ความดีเด่นของเรื่องนี้มาจากอัจฉริยภาพของคุณสุวรรณ
แล้วเราจะเรียก “คุณสุวรรณ” ว่าอย่างไร “บ้า” หรือ “อัจฉริยะ” ????.........


[๑] คุณสุวรรณ เป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม(กลาง) ราชินิกุลบางช้าง ได้ถวายตัวเป็นคุณพนักงานในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แต่มาโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพราะเสียจริตแต่ไม่ได้คลุ้มคลั่งแต่เสียจริตไปในเรื่องของการแต่งกลอน วรรณคดีชิ้นเอกของคุณสุวรรณ คือ พระมะเหลเถไถ และ อุณรุทร้อยเรื่อง คุณสุวรรณถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕
[๒] นิยะดา เหล่าสุนทร.๒๕๓๕. "อุณรุทร้อยเรื่อง" จริงหรือ? ใน พินิจวรรณกรรม.กรุงเทพฯ.
[๓] ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา.๒๕๔๕.อธิบายเรื่องบทละครของคุณสุวรรณ ใน รวมวรรณคดี ๕ เรื่อง.กรุงเทพฯ.ศิลปาบรรณาคาร.

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize
ทุกคำบรรยายเพียงจับจ้องและสัมผัสด้วยใจ