วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550

ม่านมุ้ยเชียงตา : ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชนชาติสุวรรณภูมิ (ตอนที่ 1)

เสียงพิณพาทย์เครื่องผสมดังแว่วมา พร้อม ๆ กับช่างฟ้อนตัวบางร่างน้อย รีบออกมาฟ้อนตามจังหวะเพลง “ปูเดเส โอมะเพ่ เฮเฮเฮ่ มิสมาตามาต่า มาเล่” เสียงเพลงสำเนียงพม่าแบบเพี้ยน ๆ จนพม่าจริง ๆ ฟังไม่ออกดังมาพร้อมกับวงพิณพาทย์ หญิงสาวน้อย สาวใหญ่ นุ่งซิ่นรุนตยาสีชมพู ตัดกับผ้าคล้องคอสีฟ้า ออกมาฟ้อน คงจะเป็นฟ้อนอื่นไม่ได้นอกจาก ฟ้อนม่านมุยเชียงตา ชื่อฟ้อนก็ประหลาดเสียจริง แต่ที่แน่ต้องเป็นของพม่าเป็นแน่แท้ เพราะมีคำว่า “ม่าน” ม่านเป็นคำที่ชาวเชียงใหม่เรียกพม่า
ใครที่จบโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพแล้วไม่รู้จักฟ้อนม่านมุยเชียงตา นับว่าเสียชาติเกิดที่มาเป็นลูกฟ้า-ขาว เสียเปล่า เพราะโรงเรียนแห่งนี้ตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ได้ฟ้อนชนิดนี้ เพราะพระราชชายาเจ้าดารารัศมีประทานครูหลง ครูฟ้อนเมืองที่ร่วมประดิษฐ์ท่ารำกับพระองค์ท่านมาเป็นครูสอนฟ้อนที่โรงเรียนแห่งนี้
คำว่า ม่านมุยเชียงตา นั้นเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว ต่อมาเพี้ยนหนักเป็นม่านมุ้ยเชียงตา มีคนเคยบอกว่า ฟ้อนม่านมุยเชียงตาไม่ได้ เพราะคำว่า มุย แปลว่า ค้อน คำตอบของท่านผู้นี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนที่ได้ต่อท่าฟ้อนและใกล้ชิดกับครูหลงทุกคนต่างพูดตรงกันว่าฟ้อนนี้ชื่อ ฟ้อนม่านมุยเชียงตา พระราชชายาพระองค์ท่านได้แบบอย่างฟ้อนนี้มาจาก ฟ้อนกำเบ้อของพระราชสำนักพม่า ในครั้งนั้นก็ได้ประดิษฐ์ฟ้อนขึ้น 3 ฟ้อน พร้อมกันคือ ม่านมุยเชียงตา ม่านเม่เล้ โยคีถวายไฟ ทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลงก็คล้าย ๆ กัน แล้วแต่ว่าโอกาสที่จะใช้ ม่านมุยเชียงตาแปลว่าอะไร คำถามนี้ยังเป็นคำถามคาใจของนักวิชาการและช่างฟ้อนทุกคน ไม่มีหลักฐานว่าเป็นฟ้อนจากที่ใด คนไทยเห็นว่ามีเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าก็เดาว่าเป็นของพม่า พอไปถามพม่าเข้าจริง ๆ พม่าก็ว่าไม่ใช่ เป็นของโยเดีย ต่างหาก(โยเดีย คือ อยุธยา ) จากการศึกษาและร่วมกันแปลของอ.ฉัตรยุพา สวัสดิพงษ์ และ อ. อุบลรัตน์ พันธุมินทร์ ทำให้เข้าใจว่า ม่านมุยเชียงจตา หมายถึงอะไร คำว่าม่านแปลว่า พม่า ซึ่งการเติมเข้ามาเพื่อบอกว่าเป็นการฟ้อนที่มาจากพม่า ส่วนคำว่า มุยเชียงตา ตรงกับคำว่า เวชไชยันต์ ซึ่งหมายถึง ประสาทของพระอินทร์ จากการร่วมกันแปลเนื้อร้องของฟ้อนนี้ยังทำให้เข้าใจว่าทำไมจึงแรกฟ้อนนี้ว่าฟ้อนนี้ว่าฟ้อนกำเบ้อ เพราะเนื้อหาของเนื้อร้องกล่าวถึง ผีเสื้อที่อาศัยอยู่ในปราสาทเวชไชยันต์ต่างมีความสุข เริงร่า เพราะปราสาทแห่งนี้อุดมไปด้วยธรรมชาติ
แต่พวกคนที่ไม่เข้าใจก็มักตีความไปแบบแปลก ๆ เช่น เพราะแต่งตัวคล้ายผีเสื้อ (เสื้อของช่างฟ้อนจะมีจะงอยออกมาด้านข้างคล้ายปีก แต่ความเป็นจริงจะงอยนั้นเป็นรูปแบบของเสื้อพม่าอยู่แล้ว) ก็เลยให้ชื่อว่าฟ้อนกำเบ้อ หรือมีท่าฟ้อนคล้ายผีเสื้อก็เลยให้ชื่อว่าฟ้อนผีเสื้อ(กำเบ้อ) ซึ่งข้อสันนิษฐานข้อหลังนี้ไม่น่าเป็นไปได้ที่สุด หากใครเคยได้เห็นหรือได้เคยฟ้อน ก็จะพบว่าฟ้อนนี้ท่าส่วนใหญ่ออกไปท่าร่าเริง เป็นท่าตบแปะ ท่าหมุนรอบตัว แม้กระทั่งท่าต่อตัวก็ล้วนแล้วแสดงถึงความร่าเริงทั้งสิ้น ส่วนในข้อสันนิษฐานจากเครื่องแต่งกายก็เห็นจะไม่เป็นจริงเพราะ จากพระราชชายาเองนั้นต้องการให้แต่งกายตามแบบพม่า คือ นุ่งซิ่นรุนตยา เสื้อแขนกระบอกมีจะงอยด้านข้าง และคล้องผ้าสีต่าง ๆ เกล้าผมสูงปล่อยปอยผมข้างหนึ่ง มีอุบะย้อยด้านผมปอย ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงการแต่งกายเลียนแบบผีเสื้อแต่อย่างใด คนที่ยังพอตอบคำถามเกี่ยวกับฟ้อนนี้มีน้อยเหลือเกินที่เห็นจะเป็นที่รู้จักกันก็ท่านหนึ่งก็เป็นครูสอนฟ้อนของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ซึ่งเกษียณออกไปได้ไม่นาน แม่ครูเฉลิมศรี พรหมสุวรรณ หรือ ป้าเหลิม ลูกศิษย์ก้นกุฏิ แต่จริง ๆ ต้องเรียกว่า ก้นตำหนักพระราชชายา อีกท่านหนึ่ง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ คุณหญิงสวาท รัตนวรหะ ลูกศิษย์แฟนพันธุ์แท้ของครูหลง ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ยืนยันนอนยันว่าต้องเป็นม่านมุยเชียงตา ไม่ใช่ม่านมุ้ยเชียงตา
ประวัติของฟ้อนนี้เราไม่สามารถค้นไม่ได้มากกว่านี้แล้ว เพราะไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งครูฟ้อนนั้นก็เฒ่าแก่ ม้วยมรณากันไปเสียหมด ความทรงจำของท่านครูที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ก็มักจะเลือนหายไปตามกาลเวลา จึงเป็นเรื่องของลูกหลานชาวล้านนาที่ยังต้องสืบค้นต่อไป
ในขณะเดียวกันหากเรามองถึงในแง่ของความสัมพันธ์ของล้านนาและพม่าจากฟ้อนนี้ ก็คงต้องเดาว่า ล้านนาเรามีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักพม่า อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดให้กับพม่าตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 และราชสำนักล้านนาได้รับการถ่ายทอดมาจากราชสำนักพม่าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นจริงอยู่ เพราะท่วงทำนองในบางตอนมีดนตรีของล้านนาแทรกอยู่ ซึ่งผู้ชำนาญทางดนตรีไทย อาจารย์มนตรี ตราโมท ท่านว่ามีดนตรีของล้านนาและดนตรีไทยผสมผสานกัน แต่กลับไม่มีท่วงทำนองของดนตรีพม่า แต่ที่คนไทยเข้าว่าเป็นทำนองพม่าเพราะใช้เครื่องพาทย์เครื่องผสมเล่น แต่ในความเห็นของผมแล้วเป็นไปหรือไม่ว่า การที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีรับวัฒนธรรมการฟ้อนม่านมุยเชียงตามานั้น พระองค์ทรงให้ผสานระหว่างดนตรีล้านนาและดนตรีไทยเข้าไปเพราะความที่สนพระทัยในดนตรีไทยอยู่แล้ว แต่ใช้คำร้องแบบพม่า
ฟ้อนม่านมุยเชียงตาไม่ใช้ฟ้อนธรรมดาแต่หากแฝงไปด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ถึง 3 ราชอาณาจักร คนล้านนามีความสัมพันธ์ต่อราชสำนักพม่ามาช้านาน อย่างน้อยพม่าก็เคยปกครองเมืองเชียงใหม่กว่า 200 ปี รวมทั้งพม่าที่ค่อย ๆ ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ชาวล้านนานั้นก็ยังตกทอดถึงคนรุ่นปัจจุบัน แม้คนล้านนาจะเกลียดชังพม่าเพียงใด แต่วัฒนธรรที่พม่าให้กับคนล้านนานั้น คนล้านนาเองก็ยังรักษาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น สงครามทำให้สูญเสียทุกอย่าง ไม่เหมือนวัฒนธรรมที่ฝากฝังวัฒนธรรมใหม่ สร้างและรอวันเติบโต คอยการสืบสาน ม่านมุยเชียงตาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ แม้จะเป็นศัตรูกันก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมมันไม่ได้เกี่ยวกับชาติพันธุ์

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize
ทุกคำบรรยายเพียงจับจ้องและสัมผัสด้วยใจ