วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550

สันทนการ

การสันทนาการเบื้องต้น[1]
วาทิต ธรรมเชื้อ

เมื่อเด็กๆเข้ามานั่งล้อมวงร้องเพลงนั่นคือ สัญญาณของการเข้าค่าย รวมกลุ่มองค์กร หรืออะไรก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่การรวมกลุ่มเช่นนี้จะขาดไม่ได้คือ การสันทนาการ คำนี้หลายคนคงได้ยินได้ฟังมาจากหลายที่ บางแห่งเรียก “สันทนาการ” บางแห่งเรียก “นันทนาการ” คำใดจึงจะเป็นคำที่ใช้ถูก คำใดมีความหมายอย่างแคบ คำใดสามารถใช้ในงานใด คำถามเหล่านี้เป็นข้อคำถามที่ถูกถกเถียงกันวงการสันทนาการมาหลายชั่วปี หากแต่จะใช้อย่างไร พันธกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ ความบันเทิง ที่มอบให้แก่กลุ่มคน
ความหมายของ “สันทนาการ” และ “นันทนาการ”
เนื่องจากเอกสารในครั้งนี้เป็นการเขียนเพื่อการสันทนาการไม่ได้เขียนเพื่อสืบเสาะหาต้นกำเนิดของคำ ดังนั้นจึงจะปรับความหมายของทั้งสองคำให้ง่ายกว่าในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน ปีพุทธศักราช 2542
“สันทนาการ” ในความหมายในวงวิชาการนั้น หมายถึง การแสดง การให้ความบันเทิงในรูปแบบของกิจกรรม
“นันทนาการ” ตามความเข้าใจของนักสันทนาการนั้น หมายถึง การแสดงหรือการให้ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ เช่น ละคร เพลง วงดนตรี เป็นต้น
จากการนิยามความหมายนั้นจะเห็นได้ว่า “นันทนาการ” เป็นคำที่มีความหมายกว้างซึ่งครอบคลุมถึงกิจกรรมสันทนาการ การสันทนาการนั้นเป็นเพียงแต่รูปแบบของกิจกรรม นั่นหมายความว่า สันทนาการมักจะอยู่ในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ เช่น เพลง เกม หรือแม้แต่กิจกรรมยามกลางคืน เช่น รอบกองไฟ งานวัด เสียงจากธรรมชาติ ด้วย
หลายท่านในวงวิชาการให้ความเห็นเกี่ยวกับทั้งสองคำไว้อย่างน่าสนใจ แต่เมื่อนำมาหาข้อสรุปในเรื่องของลักษณะร่วมและความต่างของทั้งสองคำจะพบว่า สันทนาการนั้นแทบจะไม่ต่างจากคำว่า นันทนาการเลย หากแต่จะต่างกันในเรื่องของการใช้คำเสียมากกว่า กล่าวคือ สันทนาการมักจะใช้ในกรณีที่เรียกกิจกรรมที่ให้ความบันเทิงในรูปแบบของเพลง และเกม ส่วนคำว่า นันทนาการนั้นสามารถใช้เรียกรูปแบบของความบันเทิงทุกอย่าง เช่น การแสดงคอนเสริต์ การแสดงละคร การชมภาพยนตร์กลางแปลง หรือ แม้แต่ลิเก ก็เป็นนันทนาการรูปแบบหนึ่ง
ในเอกสารนี้เป็นกิจกรรมีที่เกี่ยวกับสันทนาการ ดังนั้นจึงขอใช้คำว่าสันทนาการในความหมายดังต่อไปนี้ คือ การสันทนาการ หมายถึง กิจกรรมในรูปแบบเพลงและเกม ที่ใช้สำหรับการรวมกลุ่มองค์กร การรวมกลุ่มตามพฤติการณ์ของสังคม รวมไปถึง ค่าย และ/หรือการประชุมองค์กรต่างๆ
และจะใช้คำว่า นักสันทนาการ สำหรับผู้ที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้ารวมกลุ่มต่างๆตามที่ได้กล่าวไว้ตามข้างต้น

สันทนาการไม่ใช่แค่การร้องเพลง ปรบมือ ทำท่าเท่านั้น
สันทนาการไม่ใช่การร้องเพลง ทำท่าทางประกอบเพลงเท่านั้น หากสันทนาการคือการทำกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมอย่างมีระบบและสนุกสนาน หลายคนเข้าใจว่าการสันทนาการคือการร้องเพลงและการทำท่าทางประกอบเพลงเท่านั้น การสันทนาการคือการสร้างความบันเทิงและพร้อมกันนั้นเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่เพียงเท่านั้นการสันทนาการยังเป็นเครื่องมือสื่อสาร และการทำความเข้าใจระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย
เนื่องจากผู้เข้ากิจกรรมนั้นมาจากหลายที่และถูกเลี้ยงดูมาหลากหลายแบบ ดังนั้นจึงต้องมีการละลายพฤติกรรม การละลายพฤติกรรม หมายถึง การลบ การกด การล้าง พฤติกรรมเดิม เพื่ออสร้างพฤติกรรมใหม่กับการเข้าสู่สังคมใหม่ กล่าวคือ การละลายพฤติกรรมนั้นมีเพื่อทำให้ผู้เข้ากิจกรรมได้สนิทสนมกันมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดความสัมพันธภาพกันภายในอีกด้วย
การละลายพฤติกรรมโดยใช้สันทนการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจาก การสันทนการนั้นเน้นความบันเทิงเป็นสำคัญ เมื่อเน้นความบันเทิงเป็นสำคัญผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะลืมพฤติกรรมเดิมๆ ในขณะเดียวกันนักสันทนาการก็มีบทบาทในเรื่องของการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม อนึ่งผู้สันทนาการควรระลึกตลอดว่า ในช่วงนี้นั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกกดพฤติกรรมเดิมๆ ฉะนั้นกิจกรรมสันทนาการจึงต้องมีลักษณะหลอมพฤติกรรมด้วย
ฉะนั้น การเป็นนักสันทนาการจึงไม่ใช่เป็นผู้นำร้องเพลงและนำทำทางประกอบเพลงเท่านั้น แต่นักสันทนาการเป็นผู้นำกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมอย่างมีระบบและมีความบันเทิงอยู่ในตัว ลักษณะของนักสันทนาการนั้นจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป
ทฤษฎีความคิดและการสร้างสรรค์[3]
นักสันทนาการนั้นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เป็นนักสันทนการที่ดีนั้นคือต้องมีความคิดและการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้เกิดความบันเทิงที่แฝงไปด้วยความรู้และคติเตือนใจ หลายกิจกรรมของการสันทนการนั้นมุ่งเน้นเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ มักแฝงไปด้วยความมุ่งหมายต่างๆเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ฝ่ายประเมินต้องการ เช่น เกมยิงเรือ ที่นำเสนอเรื่องของการวางแผนและการแสดงอัตลักษณ์ของผู้นำ การสร้างผู้นำรวมไปถึงการแสดงออกของความเป็นผู้นำ เป็นต้น ดังนั้นนักสันทนาการที่ดีนั้นจึงต้องมีกระบวนการความคิดและความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบและดีตามลำดับ
ในที่นี้จะเริ่มจากการคิด ซึ่งความคิดนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสันทนาการเพราะเหตุผลประการสำคัญคือ นักสันทนาการนั้นต้องเผชิญกับปัญหาและต้องหาทางออกอย่างมีระบบ การแสวงหาคำตอบเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระบบซึ่งนั่นคือ กระบวนการคิดนั่นเอง กระบวนการคิดนั้นแบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1 การค้นปัญหาหรือระบุประเด็นปัญหาให้ชัดเจน
“การค้นหาความจริง” (fact finding) และ “การค้นพบปัญหา” (problem finding) กล่าวคือ การตระหนักในปัญหาภายในตัวเอง ต้องพิจารณาว่าเกิดความกังวลใด ต้องนึกระลึกให้ได้ว่าเหตุใดจึงเกิดปัญหา ตัวการใดที่ก่อเหตุซึ่งปัญหา โดยต้องระบุถึงประเด็นที่ชัดเจนก่อนว่าอะไรคือปัญหาอันดับแรก ปัญหาใดที่อยู่ในระดับรองลงมา การลำดับความสำคัญของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากจะได้แก้ไขในส่วนที่ผิดมากก่อน
ขั้นที่ 2 การรวบรวมข้อมูล
ข้อมูลในที่หมายถึง ความรู้ ข้อเท็จจริง ประสบการณ์เดิม ตลอดจนข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคิดแก้ไขปัญหาต่อไป
ขั้นที่ 3 การิเคราะห์
เป็นการคิดพิจารณาและแจกแจงข้อมูลต่างๆออกเป็นส่วนๆเพื่อที่จะวางแผนแจกแจงลึกลงไปในรายละเอียดต่างๆ เพื่อแยกแยะ เปรียบเทียบถึงปัญหาและทางแก้ไข เช่น ความเหมือน ความต่าง และความสัมพันธ์ของข้อมูลเป็นต้น
ขั้นที่ 4 การใช้ความคิดคัดเลือกข้อมูล
เป็นการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อตัดสินใจว่าข้อมูลใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมโดยพยายามมองหาทางเลือกไว้หลายๆทางนับเป็นขั้นการค้นหาความคิดหรือสมมติฐาน(idea finding) หลักสำคัญคือต้องพยายามระดมความคิด พยายามผลิตความคิดออกมาให้ได้มากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมุ่งผลิตความคิดอเนกนั่นเอง
ขั้นที่ 5 การประมวลความคิด
ความคิดแรกยังเป็นความคิดที่ยังฟุ้งกระจายไม่ชัดเจนต้องผ่านการคิดทบทวนซ้ำเพื่อให้ความคิดนั้นก่อรูปและพัฒนาในรายละเอียด จนมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ เป็นกระบวนการครุ่นคิด(incubation) ในขั้นนี้ข้อมูลทั้งเก่าและใหม่จะสับสนปนเปไม่เป็นระเบียบยังไม่สามารถขมวดความคิดเป็นคำตอบที่ชัดเจนได้ จึงปล่อยความคิดนั้นไว้เงียบๆเสมือนระยะฟักตัว ซึ่งอาจจะสำเร็จหรือไม่ก็ได้
ขั้นที่ 6 การสังเคราะห์
เมื่อผ่านการประมวลความคิดมาแล้วนั้นจะต้องรวบรวมหรือเชื่อมต่อองค์ประกอบของปัญหา ข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกัน จนได้ภาพรวมของปัญหา หรือสภาพการณ์ที่แจ่มชัด จนเกิดประกายแนวคิด (illumination or insight) จากการร้อยเรียงเหตุผล ข้อมูล และความคิดต่างๆเข้าด้วยกัน จนกระทั่งสามารถเห็นความสัมพันธ์ของสภาพสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นว่าสิ่งต่างๆ มีเหตุผลเชื่อมโยงกันอย่างไร เกิดความเข้าใจและคิดคำตอบออกทันที หรือที่เรียกเป็นภาษาพูดว่า “ความคิดแว้บ” หรือ “ปิ๊ง” นั่นเอง
ขั้นที่ 7 การประเมินผล
เป็นขั้นตอนที่พิสูจน์ (verification) ว่าความคิดนั้นเป็นจริงและถูกต้องหรือไม่ เป็นการยอมรับผลจากการค้นพบ (acceptance finding) โดยนำวิธีการที่ผ่านการประเมินแล้วว่าเหมาะสมมาพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมทั้งเผยแพร่ความคิดนั้นในสู่สาธารณชนเพื่อให้ความคิดนั้นเป็นที่ยอมรับโดยสากล
นักสันทนาการควรพึงระลึกถึงกระบวนการคิดตลอดเวลา เนื่องจากการทำงานสันทนาการเป็นสิ่งที่ต้องเจอกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นทฤษฎีทั้ง 7 ขั้นตอนจึงเป็นเหมือนกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้นำสันทนการนั้นแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและเกิดความเที่ยงตรง ฉะนั้นการฝึกทั้ง 7 ขั้นตอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการสันทนาการ
บทบาทและหน้าที่ของนักสันทนาการ
เมื่อนักสันทนาการหรือผู้นำสันทนาการได้รับหน้าที่ให้สันทนาการสร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วนั้น นักสันทนาการไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ที่สร้างความบันเทิงหรือสีสันให้กับการประชุมหรือค่ายเท่านั้น หากแต่ยังต้องเป็นนักนำกิจกรรมที่ดี กล่าวคือ เมื่อต้องทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง นักสันทนาการจำเป็นต้องมีทักษะการอธิบายที่ดี การอธิบายนั้นมีหลักการที่สำคัญที่สุด คือ อธิบายให้ชัดเจน ไม่วกวน และกระชับ เข้าใจง่าย นักสันทนานั้นจึงเป็นตัวกลางสำคัญระหว่างตัวกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรม นักสันทนาการเปรียบเหมือนล่าม ที่ต้องคอยแปลจากภาษาหนึ่งเพื่อภาษาหนึ่ง ทำนองเดียวกัน นักสันทนาการจำเป็นต้องระดมความคิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อถอดรหัสความหมายของกิจกรรมให้ได้
นอกจากนั้นแล้ว นักสันทนการยังต้องเป็นผู้ที่ดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทฤษฎีความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่ว่า “คนเราจะมีความสนใจในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งอย่างดีนั้น มีเพียง 15 นาที” ซึ่งจะเห็นได้ว่าทฤษฎีกำลังต้องการจะสื่อว่า เมื่อพ้น 15 นาทีแรกไปแล้วนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นจะมีความสนใจในกิจกรรมน้อยลง ดังนั้นผู้นำสันทนาการหรือนักสันทนาการนั้นจำเป็นต้องมีเทคนิควิธีที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้ามาสนใจในกิจกรรม โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ทันตั้งตัวหรือไม่รู้ตัว และไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความกดดันภายใน ในที่นี้จะข้อเสนอวิธีการเพื่อดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้
ประการแรก เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสียงดังหรือเกิดความวุ่นวาย โกลาหล นักสันทนาการอาจจะใช้วิธีแก้โดย ใช้การปรบมือ เพื่อเรียกความสนใจ หรืออาจจะเป็นเพลงที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วม เช่น เพลงยามเมื่อน้ำแห้งลง เพลงโอ้แม่ระกำ เพลงกล้วยหอม เป็นต้น ประการถัดมา หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหม่อลอย ไม่สนใจในกิจกรรม นั่งคุยกันเอง นักสันทนาการอาจจะใช้การถามเพื่อดึงความสนใจ เช่น ถามเพื่อเรียกสติกลับมา ถามเพื่อหาความสนใจ ถามเพื่อต้องการความคิดเห็น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วหากผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังไม่สนใจในกิจกรรมอย่างรุนแรง นักสันทนาการอาจจะใช้วิธีถามต่อหน้าประชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความแปลกแยกและต้องการจะกลับเข้ากลุ่มสังคมอย่างปกติ กล่าวคือ เมื่อถามต่อหน้าประชุมชนนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะอายเพราะทุกสายตามักจะจับจ้องผู้ที่แปลกแยกออกจากกลุ่ม ดังนั้นวิธีนี้จึงน่าจะเป็นวิธีสุดท้ายในการเลือกที่จะดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ควรดูสถานการณ์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะหาทางออกอย่างดีที่สุดเพื่อความบันเทิงอย่างมีข้อคิดตามแนวสันทนาการที่ดี
การเป็นนักสันทนาการที่ดี
การเป็นนักสันทนาการที่ดีนั้น เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวถึง เนื่องจากการเป็นนักสันทนาการที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวและสถานการณ์นั้นๆด้วย ในเอกสารนี้จะกล่าวถึงการเป็นนักสันทนาการที่ดีอย่างคร่าวๆ เพื่อความเข้าใจและเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆของนักสันทนาการทั่วไป
ประการแรก นักสันทนาการต้องเป็นผู้ที่มีกระบวนการคิดที่ดี กล่าวคือ นักสันทนาการจะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคมากมายเนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นมีจำนวนมาก ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่ปัญหาก็ยิ่งมากตามขึ้นไปเท่านั้น ระบบความคิดหรือกระบวนการคิดของนักสันทนาการจึงต้องการความคล่องแคล่วเป็นสำคัญ ฉะนั้นการฝึกกระบวนการคิดทั้ง 7 ขั้นตอน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้กระบวนการคิดเกิดความคล่องแคล่ว
ประการถัดมา นักสันทนาการจำเป็นต้องเป็นผู้มีลักษณะของผู้นำสูง เนื่องจากนักสันทนาการจะต้องดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือแม้แต่การเนผู้นำของกิจกรรมต่างๆจึงจำเป็นต้องมีลักษณะของผู้นำ ลักษณะของผู้นำที่ดี เช่น การมีน้ำใจ มีไหวพริบปฏิภาณ มีมานะ มีสติปัญญาที่เฉียบแหลม สามารถพูดโน้มน้าวใจได้ เป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป เป็นต้น นักสันทนาการนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องมีไหวพริบปฏิภาณเนื่องจากต้องแก้สถานการณ์ต่างๆได้อย่างแนบเนียบ
อีกประการหนึ่งนั้น คือ นักสันทนาการนั้นต้องมีลักษณะของผู้ตามที่ดี เพราะการสันทนาการนั้นต้องพลัดเปลี่ยนกันเพื่อนำสันทนาการ การเป็นผู้ตามที่ดีนั้น อาจจะเป็นโดยการเป็นผู้สนับสนุน(support) กล่าวคือ เมื่อผู้นำสันทนาการต้องการนำกิจกรรมแบบใด ผู้สนับสนุนต้องทำให้บรรลุจุดประสงค์ เช่น เมื่อผู้นำสันทนาการต้องการรวมกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม ผู้สนับสนุนต้องเป็นตัวกลางในการช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มกันอย่างรวดเร็วเพื่อทำเวลา หรือ เมื่อผู้นำสันทนาการเหนื่อย ดังนั้นผู้สนับสนุนคนใดคนหนึ่งจำเป็นต้องขึ้นมาเป็นผู้นำสันทนาการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามนักสันทนาการต้องควรปฏิบัติและยึดถือคำสั่งของผู้นำสันทนาการเป็นสำคัญเพราะถ้าเกิดความขัดแย้งกันเองจะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหมดความสนุก
นอกจากนี้แล้วนักสันทนาการยังต้องเป็นผู้สร้างความบันเทิงและสีสันให้กับการประชุม หรือการรวมกลุ่ม อนึ่งนักสันทนาการเป็นผู้ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในการประชุมหรือการรวมกลุ่ม ดังนั้นบทบาทในเรื่องของความบันเทิงจึงมักจะเป็นของนักสันทนาการ
ลักษณะสำคัญของนักสันทนาการที่ดีอีกประการหนึ่งคือ นักสันทนาการต้องมีเป็นผู้มีอัธยาศัยสนุกสนาน (friendly and entertrainer) เนื่องจากการเป็นผู้สร้างความบันเทิงนั้นจำเป็นต้องเป็นคนที่เรียกว่า “คนสนุกสนาน” แม้ว่านักสันทนาการบางคนตัวตนที่แท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่คนสนุกสนานแต่เมื่อเป็นผู้นำสันทนาการแล้วนั้นจึงจำเป็นอย่างมากในการปลอมแปลงนิสัยเพื่อความบันเทิง (การปลอมแปลงนิสัย คือ การสร้างลักษณะนิสัยที่ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงเพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่ง เช่น ตัวตนไม่ได้เป็นคนที่กล้าแสดงออก แต่เมื่อจำเป็นต้องแสดงละครก็พยายามใช้ความกล้าพยายามแสดงละคร เป็นต้น)
นักสันทนาการนอกจากจะเป็นผู้สร้างความบันเทิงแล้วนั้นนักสันทนาการยังต้องเป็นคนที่กล้าแสดงออก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นในเรื่องของการปลอมแปลงนิสัยเพื่อความบันเทิง เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นนักสันทนาการแล้วนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีในเรื่องของการปลอมแปลงนิสัย อาจจะเรียกตามภาษาพูดว่า “การโกหกขาว” ก็เป็นได้ หรือจะเรียกว่า “ต้องด้าน ไร้ยางอาย”
การเป็นนักสันทนาการที่ดีนั้นสิ่งที่จำเป็นอีกประการ คือ การเป็นนักพูดที่ดี กล่าวคือ ต้องเป็นนักพูดโน้มน้าวใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม การหว่านล้อมด้วยคำพูดมักจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้เข้าร่วมมักจะเชื่อตามและปฏิบัติตามโดยง่ายดาย การพูดได้ กับ การพูดเป็นไม่เหมือนกัน เนื่องจากการการพูดได้นั้นอาจะเป็นการพูดแบบนกแก้วนกขุนทอง (การท่องจำ) หรือการพูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง (ไม่มีเนื้อหาสาระ) แต่การพูดเป็น คือ การพูดที่มีเนื้อหาสาระ และสนุกสนานอีกทั้งยังต้องให้ผู้ฟัง ฟังแล้วต้องการทำสิ่งที่ผู้พูดต้องการให้เป็น ให้ทำ
แม้ว่านักสันทนาการที่ดีนั้นจะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าควรเป็นแบบใด แต่ข้อเสนอทั้งหมดนั้นคงจะเป็นแนวทางสำหรับนักสันทนาการที่ดีเพื่อสร้างความบันเทิงโดยอยู่บรรทัดฐานของกฎสังคม การเป็นนักสันทนาการที่ดีนั้นจึงจำเป็นต้องดูบริบทของสังคมในขณะด้วยว่าจะทำอะไรได้บ้าง บางที่บางแห่งสามารถเล่นเกมลามกได้ แต่บางที่บางแห่งไม่สามารถจะเล่นจะทำได้ ดังนั้นการทำให้ถูกหาลเทศะจึงเป็นสิ่งจำเป็นของนักสันทนาการด้วย แนวทางทั้งหมดนี้เป็นเพียงโครงร่างของการเป็นนักสันทนาการที่ดี หากเวลาปฏิบัติจริงแล้วก็ควรจะปรับใช้เพื่อให้เกิดความบันเทิงอย่างแท้จริง
รูปแบบของสันทนาการในประเทศไทย
การสันทนาการในเมืองไทยนั้นมีมานานกว่า 60 ปี โดยเริ่มจากการนันทนาการเข้าค่ายลูกเสือชาวบ้าน ดังนั้นเพลงและเกมในช่วงแรกจึงเป็นแบบลูกเสือชาวบ้าน จุดประสงค์หลักของเพลงและเกมนันทนาการในค่ายลูกเสือชาวบ้านนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดความบันเทิงและคลายเครียดสำหรับลูกเสือชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดความสนใจของลูกเสือชาวบ้าน เนื่องจากลูกเสือชาวบ้านค่อนข้างเป็นผู้ที่มีอายุมากดังนั้นเพลงและเกมจึงต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของอายุและความสนใจ พัฒนาการของรูปแบบสันทนาการนั้นมักจะมาจากค่ายลูกเสือ-เนตรนารี ดังนั้นเพลงและเกมบางเพลงบางเกมนั้นมักจะไปซ้ำกับค่ายลูกเสือ บ่อเกิดสันทนาการที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของรูปแบบสันทนาการในปัจจุบันคือ ค่ายสิ่งแวดล้อม เป็นที่น่าสังเกตว่านักสันทนาการมักจะนำรูปแบบเพลงและเกมมาจากเพลงและเกมจากสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งนั้น การใช้เกมและกิจกรรมตามแนวจิตวิทยาก็เป็นที่นิยมในการสันทนาการในปัจจุบัน เช่น เกมทายนิสัย การทายใจ เป็นต้น เราสามารถแบ่งรูปแบบของสันทนาการตามเกณฑ์ต่างๆได้ดังนี้
1. เกณฑ์ลักษณะของเพลงและเกม สามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
1.1 Ice breaking คือ เพลงและเกมเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม เข้าร่วมการประชุมหรือรวมกลุ่มนั้นมักจะมีความเกร็งและไม่แสดงความสามารถของตนออกมา ดังนั้นกิจกรรมนี้จะเป็นการช่วยลดความเกร็งและความกลัวที่จะเปิดตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี หรือเราอาจจะเรียกว่า กิจกรรมละลายพฤติกรรม ก็ได้ เช่น แนะนำตัวเอง (จำชื่อรอบวง) เป่ายิงฉุบชิงแชมป์โลก เป็นต้น
1.2 Humanication คือ กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เมื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วนั้น กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะยิ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทำให้การอยู่ร่วมกันภายในจะง่ายขึ้น อีกทั้งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวพี่เลี้ยงและผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนบแน่นมากขึ้น กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมักจะเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลานานและต้องแตะเนื้อต้องตัว ถ้าหากผู้นำสันทนาการหรือนักสันทนาการไม่ปูพื้นฐานในเรื่องการละลายพฤติกรรมมาก่อนแล้วจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำกิจกรรมนี้ กิจกรรมความสัมพันธ์ เช่น วิวาห์เหาะ เลขนรก ข้างขึ้นข้างแรม เป็นต้น
1.3 thinking method คือ กิจกรรมกระบวนการสร้างความคิด กิจกรรมนี้มักจะเป็นกิจกรรมหลักของค่ายหรือการประชุม กิจกรรมหลัก คือ ประเด็นสำคัญที่ใช้ในการเข้าค่าย เช่น ค่ายลูกเสือ กิจกรรมหลักมักเน้นเรื่องสามัคคี ดังนั้นกิจกรรม thinking method มักจะเป็น เดินทางไกล หรือภารกิจต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วจะจัดให้สอดคล้องกับประเด็นสำคัญของค่ายนั้นๆ เป็นต้น ดังนั้นกิจกรรมประเภท thinking method มักจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนานและกระบวนการคิดวิเคราะห์ ฉะนั้นกิจกรรมนี้ต้องใช้ความสามารถของนักสันทนาการอย่างสูงเพื่อระดมความคิดและสร้างความสนใจให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย กิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ ประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุ งานวัด walk really เป็นต้น
2. เกณฑ์ตามเนื้อหาสาระของกิจกรรม เราสารามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สันทนาการแบบทั่วไป และสันทนาการแบบลามกอนาจาร
2.1 สันทนาการแบบทั่วไป เป็นการสันทนาการสำหรับค่ายทั่วๆไป เช่น การออกค่ายลูกเสือ ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายพัฒนาผู้นำ หรือ ค่ายสำหรับผู้ด้อยโอกาสต่างๆ สำหรับเนื้อหาสาระของสันทนาการแบบนี้มักจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดความสนใจ ละลายพฤติกรรม และเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้นสันทนาการแบบนี้มักจะไม่เป็นพิษภัยต่อวงสังคม อาจจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมอายบ้าง ไม่กล้าแสดงออกบ้างแต่กิจกรรมสันทนาการทั่วไปก็ไม่ถึงกับอับอายมาก และสันทนาการแบบนี้จะไม่มีเนื้อหาที่เป็นลักษณะลามกอนาจาร เพลงและเกม วัจนกรรมต่างๆจะไม่มุ่งเน้น หรือส่อไปในทางกามมารมณ์
2.2 สันทนาการแบบลามก หรือที่เรียกว่า “สันฯกาม” มักจะมุ่งเน้นในเรื่องของเพศและกามารมณ์ การสันทนาการแบบนี้มีเพื่อละลายพฤติกรรมอย่างรุนแรงที่สุด เนื่องจากการสันทนาการเช่นนี้นั้นเป็นเสมือนดาบสองคม กล่าวคือ ประโยชน์ของสันทนาการแบบนี้มักจะมีจุดประสงค์เดียวคือ เน้นการละลายพฤติกรรมที่เรียกว่า “การละลายแบบก้นบึ้ง” คือ เป็นการละลายพฤติกรรมที่ยังติดค้างภายในใจ เช่น การแบ่งแยกระหว่างชาย-หญิง ความคิดอคติในเรื่องเพศ และความคิดเรื่องเพศรสในชาย-หญิง ดังนั้นการละลายพฤติกรรมด้วยกามารมณ์จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ความคิดเรื่องเพศในเรื่องของเพศรสในชาย-หญิงลดน้อยลง ในกรณีมักจะลดปัญหาเรื่องการคบกันเชิงชู้สาว และการคบกันเป็นแฟนได้มาก ส่วนโทษของการสันทนาการแบบนี้นั้นมีมากมายบางคนรับไม่ได้อายถึงกับฆ่าตัวตาย หรือเกิดอาการซึมเศร้า รวมทั้งเกิดอารมณ์ทางเพศได้ง่ายในผู้ชาย เช่น เกมกล้วย ไข่ลอดในกางเกง ซึ่งเกมนี้จะให้นำกล้วยและไข่ลอดตั้งแต่ชายกางเกงข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง โดยที่ฝ่ายชายจะเป็นผู้ถูกลอดส่วนฝ่ายหญิงจะใช้ได้แต่ปากเท่านั้นในการเคลื่อนของไข่และกล้วย เมื่ออวัยวะเพศชายสัมผัสกับกล้วยหรือไข่ หรือถูกปากของฝ่ายหญิงสัมผัส ก็มักจะเกิดปฏิกิริยาทางเพศขึ้น ซึ่งนำไปสู่การจินตนาการต่างๆ และจะนำสู่ปัญหาเชิงชู้สาวได้ ดังนั้นสันทนาการแบบนี้จึงจำเป็นต้องระวังในเรื่องการเกิดอารมณ์ทางเพศ รวมทั้งผู้นำสันทนาการและผู้ทำกิจกรรมร่วมนั้นต้องมีวิจารณาญาณและความระมัดระวังสูง
3. เกณฑ์อายุ เพศ วัย การสันทนาการตามเกณฑ์นี้มีข้อดีคือ สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพึงพอใจได้มากที่สุด เนื่องจากกิจกรรมนั้นตรงตามช่วงอายุ เพศ วัย เราสามารถแบ่งออกเป็น
3.1 สันทนาการสำหรับเด็ก เด็กในที่นี้นั้นจะเริ่มตั้งแต่ 5 – 13 ปี การสันทนาการสำหรับเด็กช่วงนี้จำเป็นต้องใช้เพลงง่ายๆสั้นๆ เพื่อให้ร้องติดปากและง่ายต่อการจดจำ เกมสำหรับเด็กในวัยนี้นั้นจึงควรเป็นเกมง่ายๆสั้นๆไม่ใช้เวลามาก เนื่องจากความจำและความสนใจมีน้อย เพลงและเกมที่เหมาะกับวัยนี้ คือ มาตามนัด เกมกระดาษ 9 ช่อง เกมเสือจับวัว เป็นต้น
3.2 สันทนาการสำหรับวัยแรกรุ่น ช่วงนี้จะเริ่มตั้งแต่ 14 – 18 ปี การสันทนการในช่วงอายุนี้ต้องการความน่าสนใจมากๆเพราะเป็นวัยอยากรู้อยากลอง ต้องการเอาชนะ กิจกรรม เพลงและเกมจึงเป็นเรื่องของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาเพื่อชัยชนะ ผู้นำสันทนาการจะมีบทบาทในเรื่องของการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในเรื่องของความแพ้ชนะ สันทนาการในช่วงนี้อาจจะมีสันฯกาม แต่ไม่ควรจะมีมาก เนื่องจากความต้องการในเรื่องของเพศสำหรับเด็กวัยนี้มีอยู่มาก
3.3 สันทนาการสำหรับวัยรุ่น วัยรุ่นเต็มที่จะเริ่มตั้งแต่ 19 – 28 ปี จะเป็นการสันทนาการเพื่อดึงความสนใจกลับมาเสียมากกว่า เนื่องจากวุฒิภาวะนั้นมีมากและกิจกรรมหลักนั้นจะเป็นแบบ thinking method เป็นหลัก ดังนั้นกิจกรรมที่เป็น thinking method นั้นมักจะใช้เวลามากและยาวนานจำเป็นต้องใช้สันทนาการเพลงและเกมสั้นๆเพื่อดึงความสนใจกลับเข้ามา
3.4 สันทนาการสำหรับผู้ใหญ่ กล่าวคือ ตั้งแต่ 28 เป็นต้นไป กิจกรรมของช่วงวัยนี้มักจะเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น การอบรมบุคลิกภาพของพนักงาน ทัวร์ หรือแม้แต่กิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ กิจกรรมของช่วงนี้จึงมักจะยืดหยุ่นตามความเหมาะสม
การจำแนกการสันทนาการนั้นแม้จะมีหลายทฤษฎีและหลายเกณฑ์ในการจำแนก อย่างไรก็ตามแล้วนั้นนักสันทนาการควรเลือกใช้รูปแบบการสันทนาการตามความเหมาะสมของกาละและเทศะ อนึ่งนั้นควรดูสถานการณ์ของค่ายหรือการรวมกลุ่มด้วยเนื่องจากบางอย่างนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับจิตใจ ดังนั้นการพูดหรือให้ทำกิจกรรมบางอย่างอาจจะกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างยิ่ง รูปแบบของการสันทนาการที่เสนอไว้นี้อาจจะเป็นเพียงแนวทางในการทำสันทนาการ ฉะนั้นนักสันทนาการอาจจะสร้างรูปแบบใหม่เพื่อการสันทนาการได้
ขั้นตอนการสันทนาการ
การสันทนาการนั้นเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการคิด ฉะนั้นจึงต้องมีการจัดขั้นตอนการสันทนาการเพื่อให้เป็นระเบียบวิธี การสันทนาการจะได้ไม่ออกนอกกรอบที่วางไว้ จึงอาจจะแบ่งโดยคร่าวๆได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เกริ่นนำ (Introduction) ขั้นตอนนี้เป็นการปูพื้นฐานความคิดและเตรียมสภาพก่อนการทำกิจกรรมจริง การปูพื้นฐานความคิดจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นมีความพร้อมทางด้านความคิดมากขึ้นเมื่อถึงเวลาทำกิจกรรมจริงนั้นจะได้ใช้เวลาน้อยลง อีกทั้งยังสามารถคิดแบบเชื่อมโยง (web link) ในขั้นตอนนี้จึงเริ่มด้วยการเล่นเกมละลายพฤติกรรมเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการอธิบายและทำความเข้าใจ ในขั้นนี้ผู้นำสันทนาการต้องอธิบายให้ชัดเจนไม่กำกวมเนื่องจากจะเป็นผลสืบเนื่องไปยังขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 2 กิจกรรมหลัก (main activity) ในขั้นนี้นั้นผู้นำสันทนาการมีบทบาทเพียงเป็นผู้ชี้แนะไม่ใช่เป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม กล่าวคือ นักสันทนาการอยู่ในฐานะผู้ช่วยให้กิจกรรมนั้นลุล่วงไปด้วยดี และยังเป็นผู้ที่กระตุ้น ระดมความคิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม หากว่าผู้ร่วมกิจกรรมทำกิจกรรมหลักไม่สำเร็จ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อไม่สำเร็จผลจะเป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้
ขั้นตอนที่ 3 สรุป (sumerize) การสรุปผลการดำเนินกิจกรรมนั้น เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากนักสันทนาการต้องเชื่อมโยงการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เข้าใจตามวัตถุประสงค์ อนึ่งนั้นการสรุปมีหลายวิธี ในที่นี้จะขอเสนอเพียง 3 วิธี ดังนี้ คือ วิธีแรก คือ การถาม การถามว่า “ได้อะไรจากกิจกรรมนี้” มักจะเป็นวิธีที่ยอดนิยมที่สุดเนื่องจากจะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นได้คิดเชื่อมโยงเองว่าการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดนั้นได้ทำอะไรบ้างและในกิจกรรมแฝงนัยะอะไรไว้ แต่นักสันทนาการพึงควรจะระลึกถึงเสมอว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็นเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น ดังนั้นนักสันทนาการจึงต้องมีการกระตุ้นตลอดเวลา วิธีถัดมา คือ การพูดเชื่อมโยง วิธีจะใช้ในกรณีที่เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดได้เสนอความคิดเห็นทั้งหมดแต่ไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมได้ ดังนั้นนักสันทนาการจึงต้องพูดสรุปอีกครั้ง วิธีสุดท้าย คือ การสรุปให้ฟังโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ กล่าวคือ เวลาในการทำกิจกรรมมีน้อยจึงอาจจะใช้การสรุปที่เตรียมมาเพื่อกระชับเวลาและเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
ขั้นตอนทั้งสามนี้เป็นเพียงขั้นตอนอย่างคร่าวๆเท่านั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพื่อให้ได้ตามจุดประสงค์ของกิจกรรมนั้นๆ ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่จะสามารถช่วยนักสันทนาการนั้นดำเนินกิจกรรมได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับรู้ถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมด้วย

[1] ปรับปรุงจาก เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “การสันทนาการและการสรรค์สร้างงานสันทนาการ” ค่ายอบรมผู้นำสันทนาการ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ปีการศึกษา 2545-2546 วันที่ 1 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2546
[3] ปรับปรุงจาก ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์.2546.ความคิดสร้างสรรค์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพฯ.

ไม่มีความคิดเห็น:

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize
ทุกคำบรรยายเพียงจับจ้องและสัมผัสด้วยใจ