วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อุณรุทร้อยเรื่อง : Scary Movie เมืองไทย

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสดูภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องหนึ่ง คือ Scary Movie (ซึ่งเป็นหนังที่ซื้อมานานมากแล้ว เผอิญสบโอกาสมีเวลาว่างเลยได้นั่งดูเสียที) ผมติดใจเรื่องนี้พอควรไม่ใช่ด้วยหนังเป็นหนังตลก แต่ด้วยเพราะแนวคิดในการสร้างหนังที่ผิดขนบหนังฝรั่ง คือ นำหนังหลายๆเรื่องมาผสมปนเปจนเกิดเรื่องใหม่ ผมว่านอกจากจะสนุกแล้ว ยังเจ๋งมากด้วย
ผมนั่งดูจนจบเรื่องก็ขำไปคิดไปเรื่อยเปื่อย นึกขึ้นได้ว่าเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ปี ๒ ผมได้เรียนวิชา พัฒนาการวรรณคดีไทย มีวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆกันกับหนังเรื่องนี้ คือ บทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง ของ คุณสุวรรณ
[๑] ที่ได้นำเอาตัวละครในวรรณคดีหลายเรื่อง คือ อุณรุท อิเหนา รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี พระรถเมรี จันทโครบ กากี พระลอ สุวรรณหงส์ ลักษณวงศ์ โคบุตร สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ คาวี เหตุที่เรียกกันว่าอุณรุทร้อยเรื่องเพราะในเรื่องนี้มีตัวละครทั้งหมด[๒] ๑๔๔ ตัว ซึ่งมาจากวรรณคดีไทย ๕๑ เรื่อง มาแต่งรวมปนเปจินตนาการขึ้นมาใหม่ ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวรรณคดีไทยสมัยนั้น
เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระยายักษ์ชื่อท้าวกรุงพาณ ครองรัตนานคร ประพฤติเป็นพาล ก่อความเดือดร้อนแก่เหล่าเทวดาและนางฟ้า ครั้งหนึ่งทำอุบายลอบเข้าชมนางสุจิตรามเหสีของพระอินทร์ พระอิศวรต้องทูลเชิญพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดในเมืองณรงกา ทรงพระนามว่าพระบรมจักรกฤษณ์ มีมเหสีชื่อจันทมาลีและพระโอรสชื่อไกรสุท ต่อมาพระไกรสุทได้อภิเษกกับนางรัตนา มีโอรสชื่ออุณรุท ซึ่งได้อภิเษกกับนางศรีสุดา นางสุจิตรามีความแค้นเคืองท้าวกรุงพาณ ปรารถนาจะจุติไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อแก้แค้น พระอินทร์จึงพานางไปเฝ้าขอพรจากพระอิศวร นางได้รับเทวบัญชาให้ไปเกิดในดอกบัว ฤๅษีสุธาวาสเก็บไปเลี้ยงก็ตั้งชื่อว่านางอุษา ต่อมาท้าวกรุงพาณก็ขอไปเลี้ยงดูเป็นธิดาบุญธรรม วันหนึ่งพระอุณรุทได้พานางศรีสุดาประพาสป่าล่าสัตว์ พระอินทร์ให้มาตุลีแปลงเป็นกวางทองมาล่อ นางศรีสุดาใคร่ได้กวางทองจึงของให้พระอุณรุทไล่จับ กวางทองจึงแสร้งหนีไปทางด้านที่พระอุณรุทสกัดอยู่ พระอุณรุทให้นางศรีสุดากลับเข้าเมืองไปก่อน ส่วนพระองค์จะไล่จับกวางต่อไป โดยมีราชบริพาธส่วนหนึ่งตามเสด็จ จนได้พักแรมที่ร่มไทรใหญ่ ก่อนบรรทมพระอุณรุทบวงสรวงขอพรพระไทรเทพารักษ์ พระไทรทรงเมตตาอุ้มไปสมนางอุษาและสะกดไม่ให้ทั้งสองพูดจากัน พอใกล้รุ่งก็อุ้มพระอุณรุทกลับมาที่เดิม พระอุณรุทก็คร่ำครวญถึงนางอุษา จนพระพี่เลี้ยงต้องพากลับเมือง ฝ่ายนางอุษาก็เศร้าโศกถึงพระอุณรุท นางศุภลักษณ์พรพี่เลี้ยงใคร่ทราบว่าชายใดที่นางอุษาหลงรัก จึงวาดรูปเทวดาและกษัตริย์ให้นางชี้ตัว ครั้นทราบว่าเป็นพระอุณรุทจึงเหาะมาสะกดไว้ที่พระตำหนัก ทศมุขอนุชาของนางอุษาทราบความจึงไปบอกท้าวกรุงพาณบิดา ท้าวกรุงพาณขอให้ท้าวกำพลนาค ซึ่งเป็นสหายมาร่วมรบกับพระอุณรุท ท้าวกำพลนาคจับพระอุณรุทมัดตอนหลับแล้วนำไปประจานที่ยอดปราสาท เทวดาทั้งหลายทราบข่าวก็พากันไปกราบทูลพระบรมจักรกฤษณ์ พระองค์ทรงครุฑมาช่วยพร้อมกับมอบธำมรงค์วิเศษไว้ให้ พระอุณรุทปราบท้าวกรุงพาณได้แล้วอภิเษกทศมุขขึ้นครองเมืองแทน พระอุณรุทกับนางอุษากลับไปครองเมืองณรงกา นางศรีสุดาเกิดหึงแต่ก็สามารถประนีประนอมในภายหลังได้ พระอุณรุทกลับไปคล้องช้างได้นางกินรีห้านางและปราบวิทยาธรชื่อวิรุฬเมศ ครั้นได้ช้างเผือกแล้วก็กลับมาครองเมืองเป็นสุขสืบมา
จุดที่น่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ต่างๆของอุณรุทร้อยเรื่องที่เป็นการนำเหตุการณ์เด่นๆในวรรณคดีมาเรียงร้อยใหม่จนดูสับสน แต่จุดที่น่าสนใจของอุณรุทอยู่ที่กระบวนความและความเป็นอัจฉริยภาพทางบทละครของคุณสุวรรณมากกว่า กล่าวคือ คุณสุวรรณต้องการจะแต่งให้เป็นกลอนบทละคร ฉะนั้น ฉันทลักษณ์ จำนวนคำ รวมทั้งเพลงดนตรี คุณสุวรรณก็ได้รังสรรค์อย่างเคร่งครัดไม่ได้ผิดขนบการแต่งกลอนบทละครของไทยแม้แต่น้อยเลย
“ จำจะยกธาคลาไคล ตามองค์พระอภัยเชษฐา
ว่าพลางนางแปลงกายา เป็นองค์สุดาเยาวมาลย์
รี้พลให้กลายเป็นโยธา ไอยราแปลงเป็นคชสาร
พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ พระพรหมานแปลงท้าวธาดา
ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช สกุณชาติแปลงเป็นปักษา
พระราเมศให้แปลงเป็นพระรามา พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี
พระยาครุฑแปลงเป็นสุบรรณจร วานรแปลงเป็นกระบี่ศรี
นาคาเป็นพระยาวาสุกรี โกสีย์แปลงเป็นท้าวสหัสนัยน์….. “
(อุณรุทร้อยเรื่อง ใน รวมวรรณคดี ๕ เรื่อง,๒๕๔๕ : ๔๒-๔๓)
จุดที่น่าสังเกต คือ นักวรรณคดีส่วนใหญ่มักกะสันนิษฐานว่าคุณสุวรรณนั้นต้องเป็นบ้าอย่างแน่แท้ “.....คุณสุวรรณมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔
[๓] เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในกระบวนแต่งกลอน.....” แต่ไม่ว่าคุณสุวรรณจะบ้าหรือไม่บ้านั้นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ ความเป็นอัจฉริยภาพทางวรรณคดีของคุณสุวรรณต่างหาก กล่าวคือ อัจฉริยภาพประการแรก คือ คุณสุวรรณจะต้องเป็นผู้รู้ และต้องสนใจในวรรณคดีไทยเป็นอย่างมาก (อาจจะด้วยเพราะทำงานรับราชการในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็เป็นได้) อัจฉริยภาพประการถัดมา คุณสุวรรณมีความจำดีมากๆ (ถ้าบ้าจริง คงจะต้องเรียกว่า “บ้าวรรณดี” เสียมากกว่า) คือ จดจำวรรณคดีไทยได้อย่างมากมาย (อย่างน้อยๆก็ ๕๑ เรื่อง) อัจฉริยาภาพด้านสุดท้าย คือ เทคนิคการผูกเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง ของ คุณสุวรรณ ไม่ได้ผูกเรื่องแบบส่งๆไป แต่กลับผูกเรื่องได้อย่างแนบเนียน กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า เป็นเอกภาพ แต่ละเหตุการณ์ก็ร้อยเรียงกันอย่างน่าติดตาม กล่าวคือ ลำดับจากเรื่องที่คนรู้จักมากไปหาเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่ละเหตุการณ์ก็มีความสอดคล้องกันอย่างดี ที่เราเรียกกันว่า มีสัมพันธภาพ แม้เรื่องนี้จะไม่ค่อยมี สารัตถภาพมากสักเท่าใด แต่แก่นของเรื่องนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แสดงให้เห็นว่าคุณสุวรรณก็เข้าใจถึงหลักธรรมเช่นกัน
อาจจะกล่าวได้ว่า ความดีเด่นของอุณรุทร้อยเรื่อง ไม่ได้อยู่ที่ว่าเนื้อเรื่องสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ความดีเด่นของเรื่องนี้มาจากอัจฉริยภาพของคุณสุวรรณ
แล้วเราจะเรียก “คุณสุวรรณ” ว่าอย่างไร “บ้า” หรือ “อัจฉริยะ” ????.........


[๑] คุณสุวรรณ เป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม(กลาง) ราชินิกุลบางช้าง ได้ถวายตัวเป็นคุณพนักงานในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แต่มาโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพราะเสียจริตแต่ไม่ได้คลุ้มคลั่งแต่เสียจริตไปในเรื่องของการแต่งกลอน วรรณคดีชิ้นเอกของคุณสุวรรณ คือ พระมะเหลเถไถ และ อุณรุทร้อยเรื่อง คุณสุวรรณถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕
[๒] นิยะดา เหล่าสุนทร.๒๕๓๕. "อุณรุทร้อยเรื่อง" จริงหรือ? ใน พินิจวรรณกรรม.กรุงเทพฯ.
[๓] ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา.๒๕๔๕.อธิบายเรื่องบทละครของคุณสุวรรณ ใน รวมวรรณคดี ๕ เรื่อง.กรุงเทพฯ.ศิลปาบรรณาคาร.

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize

[B][en][g][i][li][ty]--Memorize
ทุกคำบรรยายเพียงจับจ้องและสัมผัสด้วยใจ